ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2560
วันที่ 9 มี.ค. 2561
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขอรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวมปี 2560 ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญได้แก่ ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น การผิดนัดชำระหนี้ลดลง การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มขึ้น การลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาล ประชาชนมีหลักประกันทางสังคมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ การจ้างงานและรายได้ลดลง การว่างงานที่เพิ่มขึ้น การเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย การเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่นในระดับสูง การเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น และการเตรียมศักยภาพแรงงานเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ รวมทั้งสรุปประเด็นเฝ้าระวังในปี 2561 โดยมีสาระดังนี้

การจ้างงานลดลง อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรและสาขาบริการ ผลิตภาพแรงงานขยายตัวได้ดี

ไตรมาสสี่ปี 2560 การจ้างงานลดลงร้อยละ 0.6 โดยภาคเกษตรลดลงร้อยละ 2 ส่วนการจ้างงานภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในสาขาโรงแรมและภัตตาคารและสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า สอดคล้องกับการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูงในไตรมาสนี้ อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.1 โดยการว่างงานของผู้ที่เคยทำงานมาก่อนลดลง ส่วนผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนยังคงเพิ่มขึ้น ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยลดลงร้อยละ 1.0 ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่นลดลงร้อยละ 0.4 แต่ค่าจ้างแรงงานในภาคเกษตร โรงแรมและภัตตาคาร การค้าส่ง/ค้าปลีกยังเพิ่มขึ้น

ตลอดปี 2560 การจ้างงานลดลงจากปี 2559 ร้อยละ 0.6 เป็นการลดลงของการจ้างงานนอกภาคเกษตรร้อยละ 1.0 เนื่องจากภาพรวมการส่งออกที่ขยายตัวช้าในช่วงครึ่งแรกของปี และแม้ว่าในช่วงครึ่งหลังของปีการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ส่งผลต่อการขยายการจ้างงานในสาขาการผลิตมากนัก ประกอบกับการปรับเปลี่ยนใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เช่น การขนส่ง/เก็บสินค้า และสาขาการโรงแรม ภัตตาคาร เป็นผลจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีในช่วงครึ่งหลังของปี และรูปแบบการค้าในลักษณะออนไลน์ที่ขยายตัวเร็วส่งผลต่อเนื่องให้การขนส่งสินค้ามีมากขึ้น สำหรับภาคเกษตรตลอดทั้งปีขยายตัวร้อยละ 0.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.3 ในปี 2559 อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.2 ค่าจ้างแรงงานที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่นปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 ส่วนผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 โดยปรับตัวดีขึ้นทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรที่ร้อยละ 5.9 และ 5.6 ตามลำดับ
สรุปความเคลื่อนไหวด้านแรงงานที่สำคัญในปี 2560 ดังนี้

1. การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของปี 2560 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 จากเดิม 300 บาท ปรับขึ้นเป็น 305-310 บาท/วัน ใน 69 จังหวัด ส่วนอีก 8 จังหวัดคงค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำไว้เท่าเดิม 

2. การส่งเสริมการยกระดับและพัฒนาฝีมือแรงงาน การประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่องอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 6) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือรวม 12 สาขาอาชีพ เมื่อรวมกับการประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในช่วงก่อนหน้า (ฉบับที่ 1-5) ทำให้ปัจจุบันได้มีการกำหนดค่าจ้างมาตรฐานฝีมือรวมทั้งสิ้น 67 สาขาอาชีพ

3. การส่งเสริมแรงงานนอกระบบให้ได้รับการคุ้มครองทางสังคม เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. …. (2) ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน พ.ศ. .... และ (3) ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. .... เพื่อเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับสมาชิกกองทุน และเพิ่มทางเลือกในการจ่ายเงินเข้ากองทุน เพื่อให้ผู้ประกอบการอิสระสามารถเข้าถึงกองทุนได้มากขึ้น 

4. การจัดระเบียบและการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว รัฐบาลเปิดโอกาสให้นายจ้างขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม–7 สิงหาคม 2560 โดยมีแรงงานต่างด้าวมาลงทะเบียนทั้งสิ้น 7.9 แสนคน ซึ่งมีกำหนดการตรวจสอบและการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดได้ทำงานในประเทศไทยต่อไประยะหนึ่ง เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพิงแรงงานขั้นพื้นฐานจากประเทศเพื่อนบ้าน

หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการชำระหนี้ดีขึ้น พิจารณาจากสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมที่ลดลง และการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อบัตรเครดิตที่ลดลง

การพัฒนาคุณภาพการศึกษายังต้องเร่งดำเนินการ โดยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในทุกวิชาหลักยังอยู่ในระดับที่ต่ำไม่ถึงร้อยละ 50 ของคะแนนรวม ขณะที่ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปมีการศึกษาเฉลี่ย 8.6 ปี ในปีการศึกษา 2560 รัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเพื่อเร่งดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา การจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการมีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ รวมถึงการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับ สำหรับความคืบหน้าของการปฏิรูปในปัจจุบันคือ การจัดทำร่าง พ.ร.บ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 และการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

การเจ็บป่วยยังต้องเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2561 ในไตรมาสสี่ปี 2560 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 2.3 โดยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลดลงร้อยละ 27.4 เนื่องจากมีการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ทำให้สามารถลดการแพร่ระบาดลงได้ ทั้งปี 2560 พบผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 5.5 โดยเป็นผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 ซึ่งแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสสามของปี 2560 ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้คาดการณ์ในปี 2561 โรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มระบาดสูง จะมีผู้ป่วยประมาณ 220,000 ราย โดยพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดขนาดใหญ่และจังหวัดที่มีการเคลื่อนย้ายประชากรสูง รวมทั้งต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากไวรัส เด็กไทยป่วยโรคสมาธิสั้นมากขึ้น และโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

การตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่นลดลงแต่ยังคงอยู่ในระดับสูงและยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลสถิติของสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย พบว่า อัตราการคลอดในกลุ่มอายุ 15-19 ปี ต่อหญิงวัยเดียวกัน 1,000 คน ลดลงอย่างต่อเนื่องจากอัตรา 53.4 ในปี 2555 เป็นอัตรา 42.5 ในปี 2559 อย่างไรก็ตาม อัตราการคลอดยังอยู่ในระดับสูงและยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกในกลุ่มนักเรียน การเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการใช้ถุงยางอนามัยในกลุ่มนักเรียน ทั้งนี้ การส่งเสริมให้วัยรุ่นเข้าถึงและมีการใช้ถุงยางอนามัยยังเป็นเรื่องสำคัญเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมทั้งป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 

ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังในกลุ่มเด็กและเยาวชน ในไตรมาสสี่ปี 2560 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.3 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 6.0 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คิดเป็นร้อยละ 4.9 ของค่าใช้จ่ายครัวเรือน อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ยังต้องเฝ้าระวังพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชน เนื่องจากอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

คดีอาญาลดลง แนวนโยบายของรัฐมุ่งทั้งการป้องกันและลดปัญหาเพื่อสร้างสังคมปลอดภัย ในไตรมาสสี่ปี 2560 คดีอาญาโดยรวมลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 3.8 โดยคดียาเสพติด คดีชีวิตร่างกายและเพศ คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ลดลงร้อยละ 2.8 7.7 และ 7.2 ตามลำดับ ทั้งปี 2560 คดีอาญาโดยรวมเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 6.3 จากการที่คดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 แต่คดีชีวิตร่างกายและเพศ คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ลดลงร้อยละ 14.2 และ 10.5 ตามลำดับ แนวนโยบายของรัฐจึงยังคงเน้นด้านการป้องกัน ปรามปราม และบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน สร้างสภาพแวดล้อมบรรยากาศปลอดภัยจากยาเสพติดนอกรั้วบ้านในทุกหลังคาเรือน ความอบอุ่นในครอบครัวจะเป็นเกราะป้องกันลูกหลานให้รอดพ้นสิ่งเสพติด และที่สำคัญคือ การสร้างหรือพัฒนาระบบรองรับการคืนคนดีให้สังคม 

การเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลลดลง แต่ในภาพรวมยังคงเพิ่มขึ้น ในไตรมาสสี่ปี 2560 สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 9.6 มีผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 10.9 ภาพรวมปี 2560 การเกิดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.3 และ 2.5 ตามลำดับ ขณะที่ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 การเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตลดลง ร้อยละ 2.0 3.1 และ 11.5 ตามลำดับ ดังนั้น ควรดำเนินมาตรการลดการเกิดอุบัติเหตุอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะการตรวจจับเมาแล้วขับ และขับรถเร็วเกินกำหนด เพื่อลดการสูญเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ประชาชนมีการออมเพื่อเกษียณอายุเพิ่มขึ้น โดยในปี 2560 มีผู้ประกันตนภายใต้กองทุนประกันสังคม 14.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) 5.3 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 แต่ยังมีแรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกันกว่า 20 ล้านคน ซึ่งต้องเร่งขยายความครอบคลุม โดย กอช. ได้ร่วมมือกับ 10 หน่วยงานภาครัฐ คลังจังหวัด และสถาบันการเงินชุมชนทั่วประเทศ และออกกฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติเพื่อเพิ่มเงินออมของประชาชนให้มีรายได้พอเพียงหลังเกษียณอายุ

บทความเรื่อง "การเตรียมศักยภาพแรงงานเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ”

กำลังแรงงานมีแนวโน้มลดลงจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยในปี 2560 มีกำลังแรงงาน 38.08 ล้านคน ลดลงจาก 38.64 ล้านคน ในปี 2553 ขณะที่กำลังแรงงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานไม่สอดคล้องกับความต้องการ โดยตลาดแรงงานมีแนวโน้มต้องการแรงงานในภาคบริการเพิ่มขึ้น ภาคบริการที่มีการจ้างงานสำคัญคือ การค้าส่งค้าปลีก โรงแรมและภัตาคารฯลฯ แรงงานร้อยละ 62 ยังมีการศึกษาระดับมัธยมต้นและต่ำกว่า และมีสัดส่วนแรงงานอายุ 50 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ 31.1 และในช่วง 15 ปี (พ.ศ. 2545-2560) มีผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.1 ขณะที่เด็กวัยเรียนยังมีปัญหาการออกกลางคัน และมีคะแนนสอบ PISA และ O-NET ในระดับต่ำทั้งวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ จึงเป็นเรื่องท้าทายต่อทุกภาคส่วนในการให้เตรียมพัฒนาคนตั้งแต่เด็กปฐมวัยให้มีศักยภาพและป็นแรงงานทักษะสูงสามารถรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เงื่อนไขที่กระทบต่อตลาดแรงงาน ประกอบด้วย (1) การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุซึ่งเป็นข้อจำกัดด้านปริมาณแรงงานในอนาคต (2) แนวทางการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ส่งผลต่อความต้องการทักษะใหม่ ขณะที่การขับเคลื่อนแผนเน้นสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้มีความต้องการแรงงานในสาขาที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น อาทิ โลจิสติกส์ แมคาทรอนิค และอิเล็กทรอนิกส์ และ (3) ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดส่งผลต่อการใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงานเกิดการลดการจ้างงานในบางสาขาอาชีพ และเพิ่มขึ้นในบางสาขา การทำงานรูปแบบใหม่ คือ ทำงานเป็นชิ้น ทำหลายอาชีพ มีความเป็นอิสระ (Gig economy) เพิ่มขึ้นที่อาจส่งผลกระทบต่อจำนวนแรงงานที่จะเข้าทำงานในสถานประกอบการ

การดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมแรงงาน 
1. เตรียมคนก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยพัฒนายกระดับคุณภาพการศึกษาในระดับพื้นฐานให้มีการจัดการสอนแบบบูรณาการข้ามกลุ่มสาระวิชาเพื่อบ่มเพาะคุณลักษณะและทักษะที่เหมาะสมกับการทำงานในยุคใหม่  แก้ไขปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ พัฒนาคุณภาพโรงเรียนท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง เป็นต้น ผลิตกำลังคนและยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษา โดยร่วมมือกับเอกชน อาทิ โครงการสัตหีบโมเดล โครงการสถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี Excellent Model School (EMS) จัดทำ Web-based Survey เพื่อสำรวจความต้องการและการผลิตแรงงาน ตลอดจนผลิตและสร้างผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ 
2. การพัฒนาศักยภาพผู้ที่อยู่ในตลาดแรงงาน โดยยกระดับฝีมือทักษะแรงงาน จัดทำแผนกำลังคนในอุตสาหกรรมศักยภาพ และกำลังคนระดับจังหวัด ยกระดับฝมือแรงงานในสถานประกอบกลุ่ม Super Cluster กลุม Cluster อื่นๆ และอุตสาหกรรมเปาหมาย ฝกอบรมฝมือแรงงานใหมในสาขาภาคบริการ และระบบโลจิสติกส รวมทั้งพัฒนาสมรรถนะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับแรงงานนอกระบบ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ธุรกิจเกิดใหม่ (Startup) วิสาหกิจชุมชน และกลุ่ม SMEs

แนวทางการดำเนินงานต่อไป 

1. พัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยจัดหลักสูตรการเรียนการสอนแบบ Competency-based เร่งพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้มีทักษะ และสมรรถนะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาและสถานประกอบการให้เรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริง และเรียนรู้โลกการทำงาน ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางอาชีพและแสดงให้เห็นถึงเส้นทางความก้าวหน้าทางอาชีพ เพื่อสร้างความมั่นใจและจูงใจในการเรียนอาชีวศึกษา

2. พัฒนายกระดับทักษะแรงงาน กลุ่มแรงงานใหม่ มุ่งการพัฒนาแนวทางเรียนรู้ในระบบการศึกษากับการปฏิบัติเพื่อให้เกิดการปฏิบัติงานได้จริง โดยสร้างความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และสถานศึกษาร่วมออกแบบหลักสูตร และฝึกอบรมให้เหมาะกับแต่ละคลัสเตอร์อุตสาหกรรม เพิ่มทักษะและความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ กลุ่มแรงงานเดิม อบรมให้มีทักษะใหม่ๆ เพิ่มทักษะ และมีทักษะที่หลากหลาย ทักษะด้านภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยีสารสนเทศ พัฒนาแรงงานให้ปรับตัวและเรียนรู้ตลอดชีวิต ควบคู่กับพัฒนาคุณลักษณะด้านการทำงาน เช่น การผสมผสานระหว่างการใช้เทคโนโลยีกับการลงพื้นที่จริงอย่างเหมาะสม ยืดหยุ่น และพัฒนาทักษะการสร้างทีม เป็นต้น

3. ควรมีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ โดยศึกษาความต้องการเพื่อวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนในภาพรวมของประเทศ ให้เพียงพอและสอดคล้องกับความต้องการเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในระยะยาว รวมถึงพัฒนาและปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูลแรงงาน ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของงานและรูปแบบการทำงานซึ่งมีความหลากหลายมากขึ้น 
4. สนับสนุนปัจจัยอื่นๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ตลอดจนส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในทุกองค์กร/สถาบัน เพื่อสร้างคนคุณภาพ โดยสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เสริมสร้างแรงบันดาลใจ มีความมุ่งมั่น บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ มีจิตสาธารณะที่ยึดผลประโยชน์ส่วนรวม และมุ่งการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ 

ประเด็นเฝ้าระวังและที่ต้องดำเนินการในปี 2561

1. การติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี
การจ้างงาน แนวโน้มตลาดแรงงานที่มีการปรับตัวใช้เทคโนโลยีชั้นสูงทดแทนในกระบวนการผลิตมากขึ้น งานบริการที่มีกระบวนการทำงานซ้ำ เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการถูกทดแทน ขณะที่มีรูปแบบการทำงานใหม่และหลากหลายอาชีพมากขึ้น โดยเฉพาะการทำอาชีพอิสระ การรับจ้างผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ จำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการอบรมพัฒนาฝีมือทักษะแรงงานและส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี พัฒนาอาชีพอื่นเพื่อให้แรงงานสามารถปรับเปลี่ยนอาชีพได้ ขณะเดียวกันกลุ่มแรงงานทักษะสูงจะเป็นที่ต้องการและจะมีบทบาทในโลกแห่งเทคโนโลยีในอนาคตมากขึ้น รวมทั้งควรมีการพัฒนาและจัดเก็บข้อมูลอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น ตลอดจนมีกฎระเบียบที่รองรับงานลักษณะใหม่เพื่อให้ผู้ประกอบการ และลูกจ้างได้รับการคุ้มครอง
การคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันการหลอกลวงหรือข้อพิพาทจากการซื้อสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ เช่น การซื้อขายออนไลน์ การซื้อขายผ่าน QR code และการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนสร้างสกุลเงินดิจิทัล รวมทั้งการเฝ้าระวังการทำผิดกฎหมายผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขวาง เช่น การพนันออนไลน์ สื่อลามก ยาเสพติด เป็นต้น

2. ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จากการปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 308–330 บาท หรือเฉลี่ย 315 บาททั่วประเทศ และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรปี 2560 พบว่า มีผู้ที่ได้รับค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทั่วประเทศจำนวน 5.4 ล้านคน ผู้ที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำส่วนใหญ่จะอยู่ในสถานประกอบการขนาดเล็กที่มีจำนวนไม่เกิน 9 คน สถานประกอบการกลุ่มนี้จะมีค่าจ้างแรงงานเป็นสัดส่วนต้นทุนที่สูง ซึ่งยังคงต้องติดตามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจดังกล่าว รวมถึงมาตรการที่จะบรรเทาผลกระทบซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอมาตรการ และการติดตามการบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำและการลงโทษสถานประกอบการและนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว

3. การป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และการลดภาวะทุพพลภาพจากอุบัติเหตุและการเจ็บป่วย แนวโน้มการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคมะเร็ง การเกิดอุบัติเหตุจราจรที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการทุพพลภาพหรือเสียชีวิตหากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลทันท่วงที ซึ่งนอกจากจะดำเนินงานด้านการป้องกันแล้ว ควรให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเมื่อพบผู้ป่วย อาทิ มีหลักสูตรปฐมพยาบาลเบื้องต้นในสถานศึกษาหรืออบรมให้ประชาชนทั่วไป ตลอดจนพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพซึ่งจะช่วยลดช่วยลดการสูญเสียจากการเจ็บป่วย

4. การขยายหลักประกันทางสังคม จากการที่รัฐได้มีแนวทางขยายการออมภาคบังคับเพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้หลังเกษียณให้พอเพียงต่อการดำรงชีพ โดยเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... เพื่อให้มีระบบการออมเพื่อการดำรงชีพยามชราภาพอย่างเพียงพอ สร้างความมั่นคงในชีวิต ครอบคลุมลูกจ้างในระบบทั้งหมด ตลอดจนเป็นการสร้างวินัยในการออมของประชาชนในวัยทำงาน

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
9 มีนาคม 2561

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์