ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
ยุทธศาสตร์ชาติ สร้างความสามารถในการแข่งขัน  ชู มหาอำนาจทางการเกษตร แม่เหล็กท่องเที่ยวโลก 
วันที่ 4 ม.ค. 2561
คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันวาง 5 ยุทธศาสตร์หลัก มุ่งเน้นพัฒนาภาคเกษตรไทยให้ก้าวไปสู่มหาอำนาจทางการเกษตร พร้อมกับสร้างประเทศไทยยุคใหม่ด้วยอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ขณะเดียวกันต้องสร้างให้ไทยเป็นแม่เหล็กการท่องเที่ยวระดับโลก ที่ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงไทยและเชื่อมโยงโลก ตลอดจนสร้างนักรบเศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อขับเคลื่อนไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว


นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เปิดเผยในงานแถลงข่าว ณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่า คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันได้เสนอร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาแล้ว ภายใต้วิสัยทัศน์ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ภายใต้บริบทของไทยที่สอดคล้องกับกติกาสากล ที่สำคัญคือความต่อเนื่องของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ควบคู่กับการสร้างและพัฒนา "คน” ซึ่งเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ต้องปรับเปลี่ยนการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบที่สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคม

ภายใต้ข้อจำกัดและความท้าทายต่างๆ ทั้งในประเทศและในเวทีโลก ในอนาคต 20 ปี ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันจึงมุ่งพัฒนาประเทศ บนฐานแนวคิดการ "ต่อยอดอดีต” โดยใช้ความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ อัตลักษณ์ไทย ทุนทางวัฒนธรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ ทุนทางความคิดสร้างสรรค์ นำมาประยุกต์ผสมผสานกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล เพื่อ "ปรับปัจจุบัน” สู่เศรษฐกิจที่เน้นการสร้างมูลค่าและขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ยกระดับภาคการผลิตและบริการที่เป็นฐานรายได้เดิมและอนาคตใหม่ที่สร้างรายได้สูง และ "สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” ด้วยการสร้างและเพิ่มศักยภาพนักรบเศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีโลก ควบคู่ไปกับการยกระดับรายได้และการกินดีอยู่ดี รวมถึงการเพิ่มขึ้นของคนชั้นกลางและลดความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศได้ในคราวเดียวกัน


มหาอำนาจทางการเกษตร โดยมุ่งเน้นให้คนในภาคเกษตรกรที่มีกว่า 25 ล้านคน หรือร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ ในปี 2558 มีรายได้สูงและอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งไทยเป็นผู้เล่นสำคัญด้านการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรในเวทีโลกด้วยพื้นฐานทางพืชเกษตรเขตร้อน และข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่สามารถพัฒนาต่อยอดโครงสร้างธุรกิจการเกษตรด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นเกษตรคุณภาพสูง และขับเคลื่อนการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพการผลิตทั้งเชิงปริมาณและมูลค่า และความหลากหลายของสินค้าเกษตร เพื่อรักษาฐานรายได้เดิมและสร้างฐานอนาคตใหม่ที่สร้างรายได้สูง ทั้งเกษตรปลอดภัย ที่ควบคุมป้องกันอันตรายจากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork) เกษตรชีวภาพ ซึ่งไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรในระดับโลก เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพื่อส่งเสริมการนำอัตลักษณ์พื้นถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เกษตรอัจฉริยะ ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาเป็นฟาร์มอัจฉริยะ (Smart farm) ที่ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นสูง ปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรพรีเมียมสู่ตลาดโลก


อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต พร้อมรับมือและสร้างโอกาสจากความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เป็นผลของการหล่อหลอมเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีทางกายภาพเข้าด้วยกัน ไทยจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพื้นฐานโครงสร้างอุตสาหกรรมและบริการ เพิ่มบุคลากรที่มีทักษะและความรู้ตามความต้องการของตลาด สร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมและบริการที่เหมาะสม และสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการอย่างยั่งยืน จากอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อต่อยอดจากภาคเกษตรไทยและมุ่งสู่อุตสาหกรรมบนฐานชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุและนำไปสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ อุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อยกระดับนวัตกรรมของเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ สร้างแพลตฟอร์มใหม่ สำหรับเศรษฐกิจในอนาคตและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน อุตสาหกรรมและบริการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยพัฒนาการขนส่งรูปแบบใหม่ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ รวมทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อไปสู่การเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตของภูมิภาคและส่งออกสู่ตลาดโลก และอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ ต่อยอดจากฐานอุตสาหกรรมที่ไทยมีความเข้มแข็งอยู่แล้วไปสู่การส่งออก เพื่อการพึ่งพาตัวเองในการรับมือกับภัยคุกคามและภัยพิบัติต่างๆ 


แม่เหล็กการท่องเที่ยวระดับโลก โดยรักษาการเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของการท่องเที่ยวระดับโลก มุ่งพัฒนาธุรกิจด้านการท่องเที่ยวให้มีมูลค่าสูงเพิ่มมากยิ่งขึ้น ด้วยอัตลักษณ์และวัฒนธรรมไทย และใช้ประโยชน์จากข้อมูลและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างสรรค์คุณค่าทางเศรษฐกิจและความหลากหลายของการท่องเที่ยวให้สอดรับกับทิศทางและแนวโน้มของตลาดยุคใหม่ สร้างรายได้ให้กับชุมชนและเมือง รวมทั้งแรงงานในภาคท่องเที่ยวที่มีถึงร้อยละ 11 ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ผ่านการสร้างและพัฒนาสินค้าและบริการ ได้แก่ อาหารไทย (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบตามสมัยนิยม (Fashion) เทศกาล ประเพณี และความเชื่อ (Festival and Faith) ศิลปะการต่อสู้ของไทย (Fighting) การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ สู่การเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติของโลก การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงาม และแพทย์แผนไทย เพื่อต่อยอดจากอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร การท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ สู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวสำราญทางทะเลและชายฝั่ง และเป็นแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมลุ่มน้ำที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับต่างประเทศ เพื่อกระจายโอกาสในการสร้างรายได้ไปสู่ชุมชนและเมืองและพัฒนาการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไทยกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค 


เชื่อมไทย เชื่อมโลก ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียน และเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย (Asia’s super corridor) ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพในการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมอย่างไร้รอยต่อ จากเอเชียตะวันออกถึงเอเชียใต้โดยมีไทยเป็นจุดเชื่อมโยงหลักของการคมนาคมให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจแห่งเอเชีย ด้วยโครงข่ายคมนาคมทุกรูปแบบ เพิ่มพื้นที่และเมืองเศรษฐกิจ พัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกดังเช่นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจตะวันตก สร้างศูนย์กลางเศรษฐกิจและนวัตกรรมแห่งใหม่ในส่วนภูมิภาคคู่ขนานกับการเติบโตของกรุงเทพฯ และสร้างเมืองเศรษฐกิจเฉพาะด้าน เช่น เมืองศูนย์กลางยางพารา เมืองนวัตกรรมอาหาร เมืองสมุนไพร ฯลฯ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างระเบียงทางด่วนดิจิทัล (Digital super corridor) และเสริมสร้างความรู้และโอกาสในการเข้าถึงโครงข่ายบรอดแบรนด์หลากรูปแบบตามความเหมาะสมของพื้นที่ และการนำวิทยาศาสตร์ข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ และการออกแบบที่คำนึงถึงผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง (Human-centered design) มาใช้ในภาคการผลิตและบริการ ไปจนถึงการรักษาและเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค เพื่อรองรับความผันผวนทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก และการสร้างพลวัตทางกฎหมายที่เป็นธรรมและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน บุคลากร และเชื่อมโยงประเทศไทยกับประชาคมโลก
 

สร้างนักรบเศรษฐกิจยุคใหม่ ทั้งผู้ประกอบรายใหญ่ กลาง เล็ก วิสาหกิจเริ่มต้น วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม รวมทั้งเกษตรกร ให้เป็นผู้ประกอบการอัจฉริยะที่มีทักษะและจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการแข่งขันที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน โดยมีนวัตกรรมในการสร้างโมเดลธุรกิจ นวัตกรรมในเชิงสินค้าและบริการ และนวัตกรรมในเชิงกระบวนการผลิตและบริการ พร้อมทั้งเป็นนักการค้าที่เข้มแข็งที่จะนำไปสู่การสนับสนุนการเป็นชาติการค้า มีความสามารถในการเข้าถึงตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นผู้ประกอบการที่ "ผลิตเก่ง ขายเก่ง” หรือ "ซื้อเป็น ขายเป็น” บริการเป็นเลิศ สามารถขยายการค้าและการลงทุนไปต่างประเทศ และประกอบการอย่างมีธรรมาภิบาล พร้อมไปกับการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงิน ตลาด และข้อมูล รวมทั้งปรับบทบาทและกลไกภาครัฐเพื่อสร้างสังคมผู้ประกอบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว 


นายสถิตย์ กล่าวในตอนท้ายว่า ต่อจากนี้ สศช. ซึ่งทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะนำร่างยุทธศาสตร์ชาติ ไปดำเนินการรับฟังความเห็นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ผ่านช่องทาง (1) เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ www.nesdb.go.th (2) โทรสาร หมายเลข 0 2282 9149 (3) เฟซบุ๊ค "ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” และ (4) จดหมาย โดยส่งมาที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ 10100 วงเล็บมุมซองว่า "คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน”   ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 

หมายเหตุ : คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รวม 11 คน ประกอบด้วย 
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล นายจรัล งามวิโรจน์เจริญ นายปพนธ์ มังคละธนะกุล นายธฤต จรุงวัฒน์ นายวิบูลย์ คูสกุล นายสุภัค ศิวะรักษ์ นางวันทนีย์ จิราธิวัฒน์ นางสาวอรกัญญา พิบูลธรรม นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล และศาสตราจารย์ศักดา ธนิตกุล กรรมการและเลขานุการ 

ข่าว : ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
ภาพ : อมรเทพ ศรีประเสริฐ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์