ข่าวสาร/กิจกรรม
ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เน้น 7 ประเด็น มุ่งช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า 
วันที่ 19 ต.ค. 2560
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เดินหน้าทำแผนและขั้นตอนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มุ่งสร้างกลไกช่วยเหลือประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบถ่วงดุล นำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการสอบสวนคดีอาญา และพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรในกระบวนการยุติธรรมให้มุ่งอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนโดยสะดวกและรวดเร็ว เน้นกำหนดแนวทาง 7 ประเด็นในการปฏิรูป 

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมี นายอัชพร จารุจินดา เป็นประธานกรรมการ พร้อมด้วยกรรมการอีก 9 คน ได้แก่ พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์  นายตระกูล วินิจนัยภาค ว่าที่ร้อยตรี ถวัลย์ รุยาพร  คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์  นายวันชัย รุจนวงศ์  นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์  นายสราวุธ เบญจกุล  พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน  และ นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ เป็นกรรมการและเลขานุการ ร่วมประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยจากการประชุมจำนวน 7 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 5 กันยายน 2560 วันที่ 12 กันยายน 2560 วันที่ 19 กันยายน 2560 วันที่ 3 ตุลาคม 2560 วันที่ 6 ตุลาคม 2560 วันที่ 9 ตุลาคม 2560 และ วันที่ 12 ตุลาคม 2560 ณ ห้องประชุมอาคารรัฐสภา ได้กำหนดแนวทางการทำแผนปฏิรูปในประเด็นต่างๆ 7 ประเด็น ดังต่อไปนี้

1) กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมในทุกขั้นตอนให้มีความชัดเจน ประชาชนสามารถตรวจสอบ รับทราบความคืบหน้าของคดี เข้าถึงข้อมูลและ/หรือมีส่วนร่วมในการแสวงหาข้อมูลเท่าที่ทำได้ให้มากที่สุด เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม โดยมุ่งหมายให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า
2) สร้างกลไกช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย เช่น การจัดหาทนายความที่มีประสิทธิภาพแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือจำเลย การปรับปรุงระบบยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล  การตั้งเจ้าพนักงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนในการยื่นฟ้องคดีปรับปรุงสิทธิ์ในการเยียวยา ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ค่าเสียหายอื่น รวมถึงค่าตอบแทนจากรัฐให้มีประสิทธิภาพ สร้างกลไกในการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายหรือเหยื่อ เช่น เด็ก หรือ สตรี ที่ถูกกระทำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือในคดีค้ามนุษย์ เป็นต้น
3) สร้างกลไกเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม เช่น สร้างมาตรการแทนการควบคุมตัวผู้กระทำความผิดอาญา (Non-Custodial Measures) โดยการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) มาใช้ในการปล่อยชั่วคราวการคุมประพฤติ และแทนการลงโทษ จำคุก ซึ่งนอกจากจะลดความเหลื่อมล้ำแล้วยังสามารถแก้ปัญหานักโทษล้นคุกอีกส่วนหนึ่งด้วย รวมถึงให้มีการนำโทษอย่างอื่นมาใช้แทนการลงโทษจำคุกระยะสั้น
4) สร้างกลไกเพื่อให้มีการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น พัฒนาระบบการบังคับตามคำพิพากษาให้เกิดประสิทธิภาพ ทั้งโทษปรับ โทษริบทรัพย์สิน และการติดตามจับกุมผู้หลบหนีคดีมารับโทษ รวมถึง การจัดตั้งศาลและวิธีพิจารณาคดีพิเศษให้เหมาะสมกับบริบทของสังคม เช่น คดีสิ่งแวดล้อมและคดีจราจร รวมถึงการสร้างบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ผู้พิพากษา) เพื่อให้การบังคับใช้ตามกฎหมายเฉพาะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
5) ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญา โดยให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการ กำหนดระยะเวลาการปฏิบัติเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความ และสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ และให้มีความเป็นอิสระในการดำเนินคดีอย่างแท้จริง
6) กำหนดให้นำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการสอบสวนคดีอาญา รวมทั้งจัดให้มีการบริการด้านนิติวิทยาศาสตร์มากกว่าหนึ่งหน่วยงานและมีอิสระจากกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีทางเลือก และต้องสามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างทั่วถึง โดยมีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดการรวมศูนย์ไว้ที่จุดเดียวดังเช่นปัจจุบัน
7) เสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร ของหน่วยงานต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมให้มุ่งอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยสะดวกและรวดเร็วเป็นสำคัญ รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงด้านรายได้ สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการให้กับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมให้มีรายได้อย่างเพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี เพื่อไม่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

ในโอกาสนี้ คณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้ง พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน เป็นโฆษกคณะกรรมการฯ พร้อมทั้งได้เปิดช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เสนอแนะ ให้ข้อมูลต่างๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่
ช่องทางที่ 1  เว็บไซต์ สำนักงานศาลยุติธรรม http://reform.coj.go.th
ช่องทางที่ 2  เพจการปฏิรูปประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  https://www.facebook.com/ร่วมปฏิรูประเทศ-1656871104331436
ช่องทางที่ 3   ตู้ ปณ. 33 รัฐสภา กทม. 10305

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ จะจัดเวทีการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน บุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะประชาสัมพันธ์กำหนดเวลาการจัดสัมมนาให้ทราบต่อไป

สำหรับความคิดเห็นที่ได้จากการสัมมนาและช่องทางต่างๆ คณะกรรมการฯ จะนำมาใช้ประกอบการทำแผนปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม โดยกำหนดจะพิจารณาจัดทำแผนปฏิรูปฯ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2560

ข่าว  :  คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม
ภาพ :  อมรเทพ  ศรีประเสริฐ  

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์