ข่าวสาร/กิจกรรม
ปฏิรูปสังคมเน้นปรับระบบการออมและการลงทุนทางสังคมเพื่อสร้างสังคมคุณภาพ 
วันที่ 4 ต.ค. 2560
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เดินหน้าหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนและขั้นตอนการปฏิรูปสังคมด้านการออมและการลงทุนทางสังคม หวังปฏิรูประบบการออมให้ครอบคลุมคนไทยทุกคน และเพียงพอต่อการดำรงชีพในวัยเกษียณ ผลักดันการลงทุนทางสังคมโดยผนึกกำลังทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสังคมคุณภาพ

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ณ ห้องประชุมสุนทร หงส์ลดารมภ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายแพทย์ อำพล จินดาวัฒนะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมและโฆษกคณะกรรมการ เปิดเผยว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมที่มี นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นประธาน ได้มีการประชุมไปแล้ว 5 ครั้ง คือ วันที่ 1 กันยายน 2560 วันที่ 8 กันยายน 2560 วันที่ 14 กันยายน 2560 วันที่ 21 กันยายน 2560 และวันที่ 28 กันยายน 2560 โดยในการประชุมได้พิจารณาถึงประเด็นข้อเสนอการปฏิรูปของ สปช. สปท. สถานการณ์ ปัญหา และการขับเคลื่อนการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ เพื่อกำหนดประเด็นการปฏิรูปด้านสังคมที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นด้านการออม และการลงทุนทางสังคม ซึ่งได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย 

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการออมและการลงทุนทางสังคม นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา กล่าวว่า"ในประเด็นด้านการออม จากการวิเคราะห์พบว่าสถานการณ์สำคัญ ในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการออมเบื้องต้นต่อ GDP อยู่ที่ประมาณร้อยละ 26 – 30  มีความใกล้เคียงกับประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่ยังต่ำกว่าประเทศสิงคโปร์ และฟิลิปปินส์  ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา การออมภาคครัวเรือนมีสัดส่วนค่อนข้างสูงเกือบครึ่งหนึ่งของการออมโดยรวม แต่ในปัจจุบันสัดส่วนดังกล่าวเริ่มลดลง โดยครัวเรือนที่ไม่มีการออมคิดเป็นประมาณร้อยละ 33  นอกจากนี้ ข้อมูลผู้ที่เกษียณอายุในระบบประกันสังคม พบว่า มีอัตราทดแทนรายได้ (replacement ratio) เฉลี่ยร้อยละ 19 – 20  สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มีหลักประกันรายได้ยามเกษียณอายุยังคงมีระดับรายได้ที่ไม่เพียงพอ และประชากรที่เป็นแรงงานกว่าร้อยละ 56 ยังไม่มีหลักประกันรายได้หลังเกษียณอายุ 

คณะกรรมการฯ ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเป็นหลักประกันทางสังคมที่จำเป็นสำหรับคนไทยทุกคนเพื่อรองรับต่อการเป็นสังคมสูงวัย โดยมีกรอบแนวคิดหลักคือ การปฏิรูประบบการออมให้มีความครอบคลุมคนไทยทุกคน โดยเฉพาะในส่วนของแรงงานนอกระบบ ซึ่งยังขาดหลักประกันรายได้หลังเกษียณ รวมทั้งให้มีระดับรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ การลงทุนทางสังคมเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นการสร้างความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในการสร้างสังคมคุณภาพ โดยมุ่งเน้นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ สถาบันทางศาสนา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน มีกรอบแนวคิดหลัก อาทิ การส่งเสริมให้สถาบันทางศาสนามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม การผลักดันให้ภาคเอกชนดำเนินการธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ในระดับชุมชน และการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการขับเคลื่อน
การพัฒนาด้านสังคมในพื้นที่” 

นายแพทย์ อำพล กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้คณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคม กำลังพิจารณาในรายละเอียดเพื่อจัดทำเป็นวิธีการและขั้นตอนในการดำเนินการปฏิรูปด้านการออมและการลงทุนทางสังคม นอกจากเรื่องการออมและการลงทุนทางด้านสังคมแล้ว คณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคมยังได้มีการพิจารณาประเด็นปฏิรูปด้านสังคมที่สำคัญอื่นๆ อาทิ เรื่องฐานข้อมูลทางสังคม ชุมชนเข้มแข็ง และกลุ่มเป้าหมายพิเศษ (เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส) ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะมีการแถลงข่าวถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานการปฏิรูปด้านสังคมในแต่ละเรื่องเป็นระยะๆ ต่อไป

ข่าว :  สำนักงานเลขานุการ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม
ภาพ : ปราณี ขวัญเกิด / อมรเทพ ศรีประเสริฐ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์