ข่าวสาร/กิจกรรม
ผู้แทนธนาคารกลางญี่ปุ่นหารือ สศช. เกี่ยวกับสภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทย
วันที่ 27 ก.ย. 2560
เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560 ณ ห้องประชุมประหยัด บุรณะศิริ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดร.วิชญายุทธ  บุญชิต ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. เป็นประธานการหารือเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจกับผู้แทนธนาคารกลางญี่ปุ่น นำโดย Mr.Tomoyuki Fukumoto, Deputy Director General for Asian affairs ธนาคารกลางญี่ปุ่น และ Mr.Ryota Kojima หัวหน้าสำนักงานธนาคารกลางญี่ปุ่นประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก ณ เขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง ซึ่งผู้แทนธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจกับพัฒนาการของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่นำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนในปัจจุบัน แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2561 รวมทั้งสอบถามความเห็นของ สศช. เกี่ยวกับข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ปรากฎตามข่าวเกี่ยวกับข้อจำกัดด้านหนี้สินครัวเรือน และข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้นแต่ประชาชนในบางภาคส่วนยังไม่รู้สึกถึงการปรับตัวดีขึ้น ซึ่ง ดร. วิชญายุทธ บุญชิต ได้ตอบคำถามสำคัญๆ และกล่าวในตอนหนึ่งว่า แม้ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปี 2560 จะกระจายตัวมากขึ้นตามลำดับ แต่ยังไม่ทั่วถึงในทุกองคาพยพของระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากในบางสาขายังอยู่ในระยะแรกของการฟื้นตัว โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมซึ่งแม้การส่งออกจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น แต่เป็นการฟื้นตัวของการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่นำโดยการผลิตสินค้าในกลุ่มที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีเข้มข้น เมื่อรวมกับการที่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกยังมีกำลังผลิตส่วนเกินและการมีสินค้าคงคลังสะสม ทำให้การฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกยังไม่ส่งผลดีต่อการจ้างงานและฐานรายได้ของครัวเรือนในภาคอุตสาหกรรมอย่างชัดเจนมากนัก 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการฟื้นตัวและการขยายตัวของการส่งออกอย่างต่อเนื่องคาดว่าจะเป็นปัจจัยกระตุ้นการผลิต การจ้างงาน และฐานรายได้ของประชาชนในภาคอุตสาหกรรมให้ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ส่วนในภาคเกษตร แม้ว่าการผลิตภาคเกษตรในครึ่งแรกของปี 2560 ในภาพรวมจะขยายตัวสูงและรายได้เกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่เป็นการขยายตัวที่เพิ่งเริ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาซึ่งยังนับว่าเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาที่ภาคเกษตรเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงมาเป็นระยะเวลาถึง 2 ปี รวมทั้งต้องเผชิญกับปัญหาความตกต่ำของราคาสินค้าในตลาดโลกในช่วงก่อนหน้า ดังนั้น ฐานรายได้ของครัวเรือนในภาคการเกษตรจึงยังอยู่ในระยะแรกของการปรับตัวและยังต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่ฐานะทางการเงินและความรู้สึกของประชาชนจะปรับตัวดีอย่างชัดเจนมากขึ้น 

ในด้านเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจนั้น ดร. วิชญายุทธ บุญชิต ได้ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญๆ ที่ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วง 2551 – 2557 ชะลอตัวลงและมีความผันผวนมากขึ้น ทั้งในด้านเงื่อนไขเศรษฐกิจโลก ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความขัดแย้งทางการเมืองของคนในชาติ และนโยบายสำคัญๆ ของภาครัฐ รวมทั้งให้ความเห็นว่า  สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการกำหนดนโยบายในปัจจุบันมีลักษณะคล้ายๆ กับช่วงต้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 โดยในด้านเงื่อนไขเศรษฐกิจโลกหลังจากที่ประสบปัญหาวิกฤติการณ์น้ำมันถึง 2 ครั้งและนำไปสู่ภาวะความถดถอยของเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงในช่วงแผนฯ 3 – 4 เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวและเข้าสูงช่วงของ Low & Stable Inflation และเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อมา เช่นเดียวกับในปัจจุบันซึ่งหลังจากเศรษฐกิจโลกเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐ ยูโรโซน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกก็เริ่มเข้าสู่ช่วงของการฟื้นตัวที่ชัดเจนและเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของการส่งออกและเศรษฐกิจไทยมากขึ้นในปัจจุบัน เช่นเดียวกับสภาพแวดล้อมทางการเมืองและการกำหนดนโยบายในประเทศซึ่งหลังจากที่คนไทยผ่านพ้นช่วงความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรงของคนในชาติ ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลและการขาดความต่อเนื่องของการขับเคลื่อนนโยบายในช่วงแผนฯ 3 – 4 เงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองเริ่มผ่อนคลายลงในช่วงแผนฯ 5 ในขณะที่การเมืองเริ่มมีเสถียรภาพและการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น หากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกและเงื่อนไขทางการเมืองในประเทศมีความต่อเนื่อง รวมทั้งการกำหนดนโยบายมีความเหมาะสม การที่จะนำพาเศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ศักยภาพการขยายตัวระยะปานกลาง และการพัฒนาเพื่อยกระดับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวก็มีความเป็นไปได้มากขึ้น  

ข่าว : ช่อผกา แก้วใหญ่
ภาพ : อมรเทพ ศรีประเสริฐ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์