ข่าวสาร/กิจกรรม
เร่งต่อยอดแผนปฏิรูปสังคม เน้น 6 ด้าน มุ่งสู่สังคมคุณภาพ
วันที่ 20 ก.ย. 2560
          คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เดินเครื่องทำแผนและขั้นตอนปฏิรูปสังคม ยึดรัฐธรรมนูญและร่างยุทธศาสตร์ชาติ ต่อยอดรายงาน สปช. สปท. และข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปต่าง ๆ ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นเน้น 6 ด้าน เพื่อมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรม สู่สังคมคุณภาพอย่างยั่งยืน
          เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2560 ณ ห้องประชุมสุนทร หงส์ลดารมภ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายแพทย์ อำพล จินดาวัฒนะ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมและโฆษกคณะกรรมการ เปิดเผยว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมที่มี ดร.ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นประธาน ได้มีการประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง คือ วันที่ 1 กันยายน 2560 วันที่ 8 กันยายน 2560 และ 14 กันยายน 2560 โดยในการประชุมได้ทำความเข้าใจร่วมกันในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปด้านสังคม เช่น รัฐธรรมนูญปี 2560 ร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รายงานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)  สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และข้อมูลสถานการณ์ด้านสังคม พร้อมทั้งจับประเด็นงานปฏิรูปที่สำคัญเพื่อศึกษาเพิ่มเติม ประสานปรึกษาหารือหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง เตรียมยกร่างแผนและขั้นตอนการปฏิรูปด้านสังคมตามภารกิจหน้าที่
          "เราวิเคราะห์พบสถานการณ์ด้านสังคมที่สำคัญหลายประการ อันเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องเร่งขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสังคม ได้แก่ โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงมากและเร็ว ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging society) ปี 2564 จะมีประชากรสูงวัยร้อยละ 20 ปี 2579 จะมีสูงถึงร้อยละ 30 คนวัยทำงานมีสัดส่วนลดลง ครอบครัวเล็กลง ครอบครัวเดี่ยวและอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น สภาพสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตและปัจจุบันมาก คนไทยยังมีการออมต่ำ มีความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมและการบริการสาธารณะ และความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้และการถือครองที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของประชาชน (ร้อยละ 10 ของประชากรกลุ่มร่ำรวยมีรายได้มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรกลุ่มยากจน 22 เท่า[1] และมีความแตกต่างด้านการถือครองที่ดินสูงถึง 850 เท่า)[2]
          นอกจากนี้ ชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นฐานรากสำคัญของสังคมคุณภาพ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิและการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากร เรื่องปากท้องและสวัสดิการด้านต่าง ๆ ซึ่งต้องมีการปฏิรูปประเทศด้านที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นให้เป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่การปฏิรูประบบรายสาขาข้างบนเท่านั้น” นพ. อำพลฯ กล่าว  
          คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบร่วมกันในการกำหนดประเด็นงานปฏิรูปด้านสังคมโดยเน้น 6 ด้าน ประกอบด้วย (1) สวัสดิการทางสังคม การออมและการลงทุนทางสังคม  (2) การปฏิรูประบบส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง  (3) การปฏิรูประบบรองรับสังคมสูงวัย  (4) การปฏิรูประบบเพื่อบุคคลกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ และผู้ด้อยโอกาส  (5) การปฏิรูปกิจกรรมทางสังคม กีฬา และนันทนาการ และ  (6) การจัดการข้อมูลและกลไกทางสังคม นอกจากนี้  ยังมีประเด็นการปฏิรูปเกี่ยวกับแรงงาน และด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ที่เป็นเรื่องเฉพาะ ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแยกออกไปต่างหาก
          นายแพทย์ อำพล กล่าวในตอนท้ายว่า คณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคม ได้แบ่งงานกันทำ ใช้วิธีประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาลงในเนื้อหาสาระงานต่าง ๆ ยกร่างเป็นแผนและขั้นตอนการปฏิรูปด้านสังคมในภาพรวมและรายด้าน รายประเด็น ให้เสร็จภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม 2560 เพื่อเตรียมนำไปรับฟังความเห็นสาธารณะและปรับปรุงร่างแผนฯ ไปพร้อม ๆ กัน โดยคาดว่าร่างแผนฯ ที่สมบูรณ์พร้อมเสนอต่อที่ประชุมร่วมของประธานคณะกรรมการปฏิรูปฯ พิจารณาได้ทันในเดือนธันวาคม 2560
----------------------------------------------
1  ข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socioeconomic Survey: SES) พ.ศ 2558 
2  ดร.ดวงมณี เลาวกุล (2556) . การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย .

ข่าว :  สำนักงานเลขานุการ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม
ภาพ :  อมรเทพ  ศรีประเสริฐ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์