ข่าวสาร/กิจกรรม
สรุปผลการประชุม คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ครั้งที่ 1/2560
วันที่ 24 ก.พ. 2560
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ห้องประชุมตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล  ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แถลงผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ครั้งที่ 1/2560 ที่มี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน และภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ร่วมการประชุม  สรุปสาระสำคัญการประชุมได้ดังนี้

1. การมองหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบ นำแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศระยะ 20 ปี ไปประกอบการทบทวน/จัดทำ แผนงานและโครงการในระดับปฏิบัติ โดยแนวทางการขับเคลื่อน จะแบ่งเป็นช่วงๆ ดังนี้

- ในช่วง 5 ปีแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการวางรากฐานการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๒ จะต้องเร่งรัดการพัฒนาในประเด็นสำคัญ เช่น สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มด้านบริการ พัฒนาอุตสาหกรรมโดยระบบอัตโนมัติ ยกระดับบริการภาครัฐ เร่งรัดการลงทุนไปสู่ประเทศในภูมิภาค และการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ ทรัพยากรมนุษย์คุณภาพ โครงสร้างพื้นฐานเพื่อธุรกิจและคุณภาพชีวิต การพัฒนาเมืองและพื้นที่เฉพาะ รวมทั้งการสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้เข้มแข็ง นอกจากนี้ต้องเริ่มการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของชาติอย่างจริงจัง โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับชีวิตและการทำงานอย่างมีเป้าหมาย การให้คุณค่ากับความสามารถในการทำงานมากกว่าวุฒิการศึกษา และการให้คุณค่ากับความคิดสร้างสรรค์และการเคารพในทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้คาดว่า เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ปี พ.ศ. 2564 จะต้องเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เช่น คนไทยมีทักษะหลากหลาย พูดได้อย่างน้อย 2 ภาษา มีสำนึกรักษ์สุขภาพ เกิดเมืองต้นแบบในทุกภาค เกิด Smart Design แพร่หลาย มีระบบการผลิตที่เป็นอัตโนมัติและสะอาดเกิดขึ้นมากมาย และมีสภาพแวดล้อมทางด้านกฏระเบียบและกฏหมายต่างๆ ที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจ 

- ในช่วงที่ 2 เป็นช่วงของการต่อยอดและเร่งกระบวนการพัฒนาเพื่อไปสู่ความเป็นชาติการค้าและสังคมผู้ประกอบการของประเทศไทย ที่สามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน 
และเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่โดดเด่น โดยจะต้องเร่งเสริมปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 4 ปัจจัย ได้แก่ (1) ส่งเสริมการศึกษาวิทยาศาสตร์ก้าวหน้า (2) มีระบบการศึกษารูปแบบใหม่ จากการปฏิรูปการศึกษาแล้วเสร็จ (3) มีการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ในเมืองหลักของแต่ละจังหวัด และ (4) มีการเพิ่มแรงงานที่มีความสามารถสูงให้มีส่วนร่วมในภาคธุรกิจมากขึ้น 

ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการพัฒนาตามที่เสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์ และแผนงาน/โครงการ ระยะ 20 ปี ตามขั้นตอนต่อไป

2. การกำหนดนโยบายเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับแนวทางการขับเคลื่อนการจัดระบบข้อมูลตัวชี้วัด เพื่อสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปดำเนินการให้มีความครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นระบบมาตรฐาน โดยตัวชี้วัดที่สถาบันจัดอันดับระหว่างประเทศ ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย มีทั้งหมด 259 รายการ ซึ่ง 31 รายการในด้าน Infrastructure มีข้อมูลที่ถูกต้องตรงกันกับสถาบัน IMD และมีเจ้าภาพชัดเจนแล้ว แต่ยังเหลือตัวชี้วัดอีก 228 รายการ ที่ต้องมีการปรับปรุงข้อมูล โดย 47 หน่วยงานซึ่งเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบข้อมูลตัวชี้วัดแต่ละตัว ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นแกนกลางดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงและบูรณาการระบบข้อมูลตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Competitiveness Data Set) ให้มีความครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นระบบมาตรฐาน และรายงานความก้าวหน้าต่อ กพข. ให้ทราบเป็นระยะ 

3. นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าด้านต่างๆ ดังนี้

- การขับเคลื่อนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ซึ่งจะต้องเร่งรัดใน 8 ประเด็น ได้แก่ (1) การสร้างความเข้มแข็งให้ห่วงโซ่คุณค่าของภาคเกษตร (2) การส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคบริการ(3) การพัฒนากลไกสนับสนุนการสร้างอุตสาหกรรม (4) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเติบโตของธุรกิจ (5) การพัฒนากลไกส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี/นวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (6) การส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะฝีมือแรงงานตลอดชีวิต (7) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการประกอบธุรกิจในยุคดิจิทัลบนฐานความรู้และนวัตกรรม (8) และการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรและสร้างพลังผู้ประกอบการ 

- แผนงานการประชาสัมพันธ์เชิงรุกในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่จะต้องได้รับความสำคัญมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการของภาครัฐ ซึ่งมีผลกระทบต่อผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยโดยสถาบันจัดอันดับระหว่างประเทศ 

- ความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการของคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาทรัพยากรณ์มนุษย์ คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐและการพัฒนากระบวนการทางศุลกากร และคณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลและสื่อสารประชาสัมพันธ์

ข่าว : สำนักพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สศช.
ภาพ : วิศณุ ติวะตันสกุล

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์