ข่าวสาร/กิจกรรม
ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2559
วันที่ 2 ธ.ค. 2559
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขอรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสามปี 2559 ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญได้แก่ รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ สถานการณ์โรคไข้เลือดออก และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินดีขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง ได้แก่ สถานการณ์การจ้างงาน การว่างงาน การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง การดูแลสุขภาพจิตของคนไทย การบริโภคบุหรี่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน อุบัติเหตุจราจร และการจัดการปัญหายาเสพติดที่ใช้การสาธารณสุขนำการป้องกันและปราบปราม โดยมีสาระดังนี้
อัตราการว่างงานทรงตัว ชั่วโมงการทำงาน รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ในไตรมาสสามปี 2559 ผู้มีงานทำมีจำนวน 38,263,172 คน ลดลงร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการจ้างงานภาคเกษตรลดลงร้อยละ 2.3 เนื่องจากกิจกรรมทางการเกษตรที่ลดลง พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและต้องเลื่อนการเพาะปลูกออกไป ส่วนการจ้างงานภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เป็นการเพิ่มในสาขาก่อสร้าง ค้าปลีก/ค้าส่ง โรงแรมและภัตตาคาร แต่สาขาการผลิตและการขนส่งมีการจ้างงานลดลง ผู้ว่างงานมีจำนวน 362,513 คน อัตราการว่างงานทรงตัวเท่ากับร้อยละ 0.94 และมีสัญญาณการปรับตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากชั่วโมงทำงานที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ผู้ที่ทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ และ 50 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 และ 0.2 ตามลำดับ เนื่องจากการฟื้นตัวของการส่งออกและความต้องการสินค้าภายในประเทศ ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนแท้จริงที่ไม่รวมผลตอบแทนอื่นๆ และค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 โดยผลิตภาพแรงงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 และผลิตภาพแรงงานภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3
ปัจจัยที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญในระยะต่อไป ได้แก่
1. การบริหารจัดการน้ำเพื่อไม่ให้กระทบพื้นที่เพาะปลูก จากปริมาณน้ำ
ในเขื่อน ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 พบปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญๆ มีมาก (ระดับน้ำ 80–100 ของระดับกับเก็บน้ำของอ่าง) อาทิ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนอุบลรัตน์ และบางเขื่อนมีปริมาณน้ำเกินความจุกักเก็บ (ระดับน้ำเกิน 100 ของระดับกับเก็บน้ำของอ่าง) อาทิ เขื่อนป่าสัก เขื่อนทับเสลา เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนแควน้อย ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการอย่างระมัดระวังเพื่อให้เกิดสมดุลน้ำในเขื่อน และไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรที่จะมีการเก็บเกี่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
2. การฟื้นตัวของการส่งออกที่จะมีผลต่อการจ้างงานในสาขาอุตสาหกรรม การส่งออกที่เริ่มมีอัตราการขยายตัวในไตรมาสที่สาม ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นภาวะธุรกิจ (3 เดือนข้างหน้า) ในด้านคำสั่งซื้อสินค้าในต่างประเทศ และการส่งออก ปรับตัวดีขึ้นหลังจากติดลบต่อเนื่องอย่างน้อย 4 ไตรมาสที่ผ่านมา ชี้ว่าแนวโน้มการผลิตเพื่อส่งออกจะค่อยๆ กลับมาเพิ่มขึ้น โดยสัญญาณในช่วงแรกจะเป็นการเพิ่มชั่วโมงการทำงาน และหากสถานการณ์ดีขึ้นต่อเนื่องผู้ประกอบการจึงจะเริ่มจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งในไตรมาสสามมีสัญญาณการเพิ่มชั่วโมงการทำงานภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 สาขาการผลิตมีชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ซึ่งต้องติดตามการฟื้นตัวของความต้องการสินค้าทั้งภายในและจากต่างประเทศในระยะต่อไป รวมทั้งการใช้กำลังการผลิต และการจ้างงานควบคู่กัน
การสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ 
• การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 จะทำให้อัตราส่วนการพึ่งพิงวัยทำงาน
จากผู้สูงอายุ 1 คน ต่อแรงงาน 4.2 คนในปี 2558 กลายเป็นผู้สูงอายุ 1 คน ต่อแรงงาน 3.2 คน ในปี 2564 และในปี 2574 ไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด ซึ่งจะมีอัตราส่วนการพึ่งพิงวัยทำงานเท่ากับ ผู้สูงอายุ 
1 คน ต่อแรงงาน 2.1 คน อาจจะนำไปสู่การขาดแคลนแรงงานจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร 
อีกทั้งปัญหาด้านการคลังของประเทศที่จะต้องมีภาระในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมาก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนการทำงานให้กับผู้สูงอายุที่จะมีส่วนช่วยส่งเสริมการมีรายได้ของผู้สูงอายุ การใช้ประสบการณ์และเวลาว่างให้เกิดประโยชน์ การสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองของผู้สูงอายุ 
• รูปแบบการให้ผู้สูงอายุมีงานทำนั้นอาจจะเป็นการขยายระยะเวลาการเกษียณหรือการจ้างงานใหม่ของแรงงานที่สูงวัยที่จะต้องคำนึงถึงศักยภาพทั้งทางด้านร่างกายและความสามารถที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ โดยกระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานคนพิการและผู้สูงอายุเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ โดยมีเว็บไซต์ www.doe.go.th/elderly เป็นแหล่งส่งเสริมการจ้างงานของผู้สูงอายุอีกช่องทางหนึ่ง เปิดให้บริการไปแล้วเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559 มีผู้สูงอายุลงทะเบียนระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม–8 พฤศจิกายน 2559 จำนวน 825 ราย อีกทั้งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 เห็นชอบมาตรการดูแลผู้สูงอายุเพื่อสร้างงานให้แก่ผู้สูงอายุ การสร้างความมั่นคงทางรายได้ และการมีที่อยู่ ผ่าน 4 มาตรการ ได้แก่ (1) มาตรการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล 
นำค่าใช้จ่ายสำหรับค่าจ้าง เงินเดือนจ้างผู้สูงอายุทำงาน หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า (2) มาตรการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex) บนพื้นที่ราชพัสดุ 4 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี นครนายก เชียงใหม่ และเชียงราย (3) การดำเนินโครงการสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) โดยให้ธนาคาร
ออมสินและธนาคารสงเคราะห์ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้สูงอายุเกินกว่า 60 ปี และ (4) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …
ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยดีขึ้น รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยปี 2558 ของ สศช. พบว่า 
• สัดส่วนคนจนลดลงเหลือร้อยละ 7.2 จากร้อยละ 10.5 ในปี 2557 ขณะที่ความเหลื่อมล้ำ
ด้านรายได้มีสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคลดลงจาก 0.465 ในปี 2556 เหลือ 0.445 ในปี 2558
• รัฐบาลได้มีนโยบายและมาตรการในการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในเรื่อง 
(1) การเร่งสร้างโอกาส อาชีพและการมีรายได้ที่มั่นคง ได้แก่ การเพิ่มโอกาสการมีงานทำโดยจัดให้มีศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย และจัดตั้งศูนย์ประสานงานและสนับสนุนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ 
(2) การช่วยเหลือ อุดหนุน และลดรายจ่าย โดยการช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย ช่วยเหลือเกษตรกรยากจนทั้งเรื่องหนี้สิน ลดดอกเบี้ย และสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายฉุกเฉินเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง 
(3) การออกกฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทั้งในด้านภาษี การใช้ประโยชน์ที่ดิน และการคุ้มครองผู้ด้อยโอกาส
และ (4) การสนับสนุนการพัฒนาตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต แม้ว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จะดีขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ประกอบกับยังมีการกระจุกตัวของสินทรัพย์ทางการเงินและที่ดิน รวมถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันปัจจัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ผันผวนรุนแรง และการเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างรวดเร็วจะกระทบต่อความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย 
• การดำเนินงานในระยะ 5 ปีข้างหน้าในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 จึงให้ความสำคัญกับการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยมุ่งเน้นการยกระดับรายได้ของกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด เนื่องจากจะเป็นการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในภาพรวม รวมทั้งเป็นการช่วยยกระดับรายได้เฉลี่ยของประเทศให้เป็นไปตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีเป้าหมายไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง โดยมีแนวทางมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพบริการทางสังคมให้ทั่วถึงทั้งในเรื่องการศึกษา สาธารณสุข การปิดช่องว่างการคุ้มครองทางสังคม และมุ่งเน้นมากขึ้นในเรื่องการเพิ่มทักษะแรงงานและการใช้นโยบายแรงงานที่สนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและเสริมสร้างรายได้สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด การกระจายการจัดบริการภาครัฐและจัดสรรทรัพยากรให้กระจายตัวอย่างเป็นธรรม รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 
เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งและพึ่งพาตนเอง และสามารถจัดการทรัพยากรในชุมชนได้
ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้น ขณะที่สถานการณ์โรคไข้เลือดออกดีขึ้น แต่ต้องเฝ้าระวังสุขภาพจิตคนไทย ในไตรมาสสามปี 2559 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 21.1 โดยผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันน้อยเกิดการติดเชื้อได้ง่าย อีกทั้งยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ขณะที่จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกลดลงถึงร้อยละ 58.4 เนื่องจากทุกหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคที่มากับยุงลาย หากยังต้องเฝ้าระวังสุขภาพจิตคนไทยที่มีแนวโน้มป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงถวายความอาลัย รัฐจึงได้ดูแลฟื้นฟูสุขภาพใจของประชาชนและชวนกันแปรความรู้สึกโศกเศร้ามาเป็นพลัง
ในการสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่านในการทำประโยชน์และพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้น
การส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายเพื่อลดภาวะอ้วนและการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายปี 2557 พบว่าคนไทยมีภาวะอ้วน ความดันโลหิตสูงและเบาหวานเพิ่มขึ้น ขณะที่การมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะอ้วนและโรค
ไม่ติดต่อเรื้อรังก็เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.5 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 19.2 ในปี 2557 สอดคล้องกับผลการสำรวจกิจกรรมทางกายของประชากรปี 2558 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่พบว่าคนไทยที่มีอัตราการเคลื่อนไหวน้อยมีถึงร้อยละ 95.5 ดังนั้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ
อย่างจริงจังทั้งการลดพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญ และการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีกิจกรรม
ทางกายที่เพียงพอ พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้คนได้มีกิจกรรมทางกายอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชิญชวนข้าราชการออกกำลังกายในวันและเวลาที่เหมาะสม โดยไม่เสียงานราชการ เพื่อสุขภาพที่ดี ลดความเครียดและเพิ่มพลังในการทำงาน
ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่ลดลง 
แต่ยังต้องเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่เป็นประจำทุกวัน ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่า 30,830 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 0.8 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่มีมูลค่า 12,894 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 11.1 แต่ยังต้องเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนอายุ 15-24 ปีที่สูบเป็นประจำทุกวันเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.5 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 12.2 ในปี 2558 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุตสาหกรรมยาสูบมีกลยุทธ์การตลาดรูปแบบใหม่ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดนักสูบหน้าใหม่และทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้วสูบมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ ได้มีการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และเพื่อยกระดับการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบได้ง่าย รวมทั้งแก้ไขให้สอดคล้องกับกรอบอนุสัญญา
ว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก
ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนดีขึ้น ขณะที่การแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องใช้การสาธารณสุขนำการป้องกันและปราบปราม คดีอาญาโดยรวมไตรมาสสามปี 2559 ลดลงร้อยละ 0.9 
จากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 โดยคดีชีวิตร่างกายและเพศ และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์รับแจ้งลดลงร้อยละ 18.7 และ 23.2 ตามลำดับ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนดีขึ้นจากการที่ภาครัฐมุ่งเน้นสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีด้วยการจัดระเบียบสังคมและการควบคุมการกระทำผิดกฎหมาย ขณะที่คดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ภาครัฐจึงได้ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหายาเสพติดโดยใช้การสาธารณสุขนำการป้องกันและปราบปรามเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางที่ประชุมแห่งสหประชาชาติ โดยนำผู้เสพเข้ารับการดูแลสุขภาพแบบบูรณาการทั้งในด้านการบำบัดฟื้นฟูอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน การฝึกทักษะอาชีพ การเข้าถึง
แหล่งทุนเพื่อประกอบอาชีพ เพื่อให้สามารถกลับคืนเข้าสู่สังคมได้
การป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไตรมาสสามปี 2559 อุบัติเหตุจราจรทางบกและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 และ 13.4 มูลค่าความเสียหายลดลงร้อยละ 50.9 ในส่วนของการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางน้ำ จากสถิติอุบัติเหตุทางเรือของกรมเจ้าท่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบเฉลี่ยแต่ละปีเกิดอุบัติเหตุไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง ล่าสุดเดือนกันยายน มีผู้เสียชีวิต 28 รายจากเหตุการณ์เรือล่มเพียงครั้งเดียว ภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน ตั้งแต่
การรณรงค์ควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุทั้งทางบกและทางน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย การสร้างจิตสำนึกและวัฒนธรรมความปลอดภัย รวมทั้งการยกระดับความปลอดภัยการสัญจร
ทางน้ำอย่างเข้มข้น อาทิ เส้นทางคลองแสนแสบ ห้ามใช้เรือที่มีการติดตั้งระบบแก๊สโดยต้องเป็นเรือที่ใช้ระบบน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล มาตรการแก้ไขในระยะยาว การจัดหน่วยกู้ชีพหรืออุปกรณ์กู้ชีพที่สามารถให้
การช่วยเหลือได้ทันที การปรับเปลี่ยนเรือให้ทันสมัยที่มีระบบเดินเรือที่เงียบและปลอดภัยมากขึ้น
ชุมชนกับการมีส่วนร่วมจัดการน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ สถานการณ์คุณภาพน้ำในปี 2558 คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 และคุณภาพน้ำในเกณฑ์พอใช้ลดลงร้อยละ 41 และภาพรวมคุณภาพน้ำในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2554-2558) มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง การเเก้ปัญหาต้องเริ่มจากการให้ความรู้ 
การสร้างจิตสำนึก และการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในการป้องกันและกำจัดมลพิษทางน้ำ ตัวอย่างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการรักษาแหล่งน้ำ อาทิ ชมรม "คนรักแม่กลอง” โดยการจับมือภาคี 16 เครือข่ายในการรณรงค์เพื่อลงชื่อร้องเรียนและเรียกร้องให้มีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะดูแลแหล่งน้ำ 5 จังหวัด เพื่อดูแลสัตว์ใหญ่ใกล้สูญพันธุ์รวมถึงสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการนำ
แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในการจัดการน้ำเสีย (1) ชุมชนตลาดน้ำคลองลัดมะยม กรุงเทพฯ เป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านทำการฟื้นฟูจัดการน้ำเน่าเสีย มีการนำเทคโนโลยีกังหันน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์มาช่วยเติมออกซิเจนในน้ำ (2) ชุมชนบ้านศาลาดิน จ.นครปฐม ชาวบ้าน
ได้ร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูคลองมหาสวัสดิ์ โดยการตรวจวัดคุณภาพน้ำและติดตั้งถังดักไขมัน รวมถึงการพัฒนากังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ รัฐบาลได้สนองพระราชดำริในการจัดการน้ำทั้งระบบรวมน้ำเสีย โดยขยายผลระบบเครือข่ายเพื่อจัดการทรัพยากรน้ำ ด้วยการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำเป็นคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ ซึ่งชาวบ้านและชุมชนต่างๆ ได้น้อมนำพระราชดำริและเทคโนโลยีมาใช้
ในการสำรวจเก็บข้อมูล เช่น จีพีเอส ภาพถ่ายดาวเทียม โทรมาตรวัดฝนและระดับน้ำอัตโนมัติ เป็นต้น 
เพื่อนำมาวางแผนพัฒนาและบริหารจัดการน้ำในชุมชนของตนเอง ปัจจุบันมีเครือข่ายมากกว่า 900 ชุมชน 

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2 ธันวาคม 2559

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์