ข่าวสาร/กิจกรรม
ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2559
วันที่ 29 ส.ค. 2559
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขอรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสองของปี 2559 ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ ดังนี้
การจ้างงานและรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ
ในไตรมาสสองของปี 2559 ผู้มีงานทำ 37,393,472 คน ลดลงร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการจ้างงานภาคเกษตรลดลงร้อยละ 6.2 แม้ว่าภัยแล้งสิ้นสุดลง แต่เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่สะสมมาตั้งแต่ฤดูกาลเพาะปลูกปี 2557 ทำให้กิจกรรมทางการเกษตรลดลงต่อเนื่อง ส่วนการจ้างงานภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะสาขาก่อสร้าง ขนส่ง และบริการท่องเที่ยว แต่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังมีการจ้างงานที่ลดลง ทั้งนี้ ในไตรมาสสองมีผู้ว่างงาน 411,124 คน อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.08 ค่าจ้างแรงงานที่ไม่รวมผลตอบแทนอื่นๆ และค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.14 ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนแท้จริงที่ไม่รวมผลตอบแทนอื่นๆ และค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 โดยผลิตภาพแรงงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และผลิตภาพแรงงานภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3
สำหรับประเด็นแรงงานที่ต้องให้ความสำคัญ และติดตามในช่วงครึ่งหลังของปี ได้แก่
(1) การจ้างงานและรายได้แรงงานภาคเกษตร จากสถานการณ์การจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงต่อเนื่อง และปริมาณน้ำในเขื่อนที่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ อย่างไรก็ดี  ปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือนกรกฏาคมจนถึงเดือนตุลาคม ศกนี้ อาจทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก และหากมีการวางแผนการกักเก็บน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังการจ้างงานภาคเกษตรน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากกิจกรรมการเพาะปลูกที่เข้าสู่ภาวะปกติ
(2) การปรับตัวของการจ้างงานในสาขาอุตสาหกรรม แม้ว่าเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราเร่ง การผลิตเพื่อส่งออกของไทยยังลดลง และผู้ประกอบการที่ไม่สามารถรับภาระต้นทุนได้ต่อไปเริ่มหันมาใช้วิธีปรับลดแรงงานหลังจากที่ได้พยายามปรับตัวโดยการบริหารจัดการต้นทุนในด้านอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี คาดว่าความต้องการแรงงานในภาคการผลิตจะเพิ่มขึ้นเมื่อการส่งออกกลับมาขยายตัว ทั้งนี้ จากดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกในไตรมาสสามของปี 2559 คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้น โดยกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์ยาง และเหล็ก เป็นต้น
(3) การบังคับใช้อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ฉบับที่ 5 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2559 เป็นต้นมา โดยเพิ่มใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม 20 สาขา ควรมีการติดตามการบังคับใช้ค่าจ้างมาตรฐานฝีมือกับสถานประกอบการอย่างเข้ม เพื่อที่แรงงานจะได้มีความตื่นตัวในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้รับค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นอย่างเป็นธรรมอันจะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่มีแรงงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศที่มีศักยภาพที่สูงขึ้น
การส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพเพื่อสังคมสูงวัย ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมสูงวัยอย่างเต็มตัวและมีภาวะการเกิดน้อย ขณะที่ประชากรสูงวัยและอัตราส่วนพึ่งพิงเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลจำนวนการเกิด
ของกระทรวงมหาดไทยปี 2549-2558 พบว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 มีจำนวนการเกิด 736,352 คน เทียบกับปี 2549 มีจำนวนการเกิด 802,924 คน จากสถานการณ์การเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องดังกล่าว สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลได้คาดประมาณแนวโน้มจำนวนบุตรเฉลี่ยต่อสตรีวัย
เจริญพันธุ์จะลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือเพียง 1.3 คนภายในปี 2583 ซึ่งไม่สามารถทดแทนวัยแรงงานที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับภาวะการเกิดที่น้อยอยู่แล้วให้มีคุณภาพเพื่อรับประกันว่าพวกเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถใช้ศักยภาพของตนเองให้เกิดประโยชน์เต็มที่
การเร่งพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสาร จากการประเมินผลการสอบ O-NET ในปี 2558 แสดงถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาหลักยังคงไม่ถึงร้อยละ 50 โดยเฉพาะค่าเฉลี่ยวิชาภาษาอังกฤษต่ำสุดสอดคล้องกับการจัดอันดับของ English Proficiency Index (EPI) ที่จัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีภาษาอังกฤษระดับต่ำมาก ขณะที่ผลการจัดอันดับของ International Institute for Management Development (IMD) ด้านสถานการณ์การศึกษาปี 2559 พบว่าภาพรวมของไทยปรับตัวลดลงอยู่อันดับที่ 52 เทียบกับอันดับที่ 48 ในปี 2558 อย่างไรก็ดี มีตัวชี้วัดย่อยด้านการศึกษาจากการจัดอันดับของ IMD ที่สะท้อนคุณภาพของระบบการศึกษาและทักษะภาษาของไทยในทิศทางที่ดีขึ้นแต่ยังไม่ส่งผลต่ออันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาให้ดีขึ้นในภาพรวม
ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลง แต่ต้องเฝ้าระวังโรคที่แพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน ในไตรมาสสองของปี 2559 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 2.3 โดยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลดลงร้อยละ 77.3 แต่พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 และโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.1 โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันน้อย เกิดการติดเชื้อได้ง่าย อีกทั้งยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า รวมทั้งยังต้องเฝ้าระวังข้อมูลสุขภาพทางโซเซียลมีเดียที่ไม่ถูกต้องมีผลกระทบต่อสุขภาพ
คนไทยมีความสุข แต่ต้องเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายที่มีอัตราเพิ่มขึ้น จาก World Happiness Report 2016 ของสหประชาชาติ พบว่าในปี 2559 ประเทศไทยมีค่าดัชนีความสุขของคนไทยอยู่อันดับที่ 33 ของโลก ซึ่งถือว่ามีความสุขมากขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่อยู่อันดับที่ 34 จาก 158 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์เมื่อเทียบในกลุ่มอาเซียน ขณะที่ผลการสำรวจสุขภาพจิต (ความสุข) คนไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและกรมสุขภาพจิต พบว่า ในปี 2558 คะแนนสุขภาพจิตของคนไทยอยู่ที่ 31.44 คะแนน ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากปี 2557 ที่คะแนนสุขภาพจิตเฉลี่ย 31.48 คะแนน นอกจากนี้ อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 6.07 คนต่อประชากรแสนคนในปี 2557 เป็น 6.31 คนต่อประชากรแสนคนในปี 2558 โดยพบว่า ช่วงอายุ 30-39 ปี มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด สาเหตุการฆ่าตัวตาย
ส่วนใหญ่มาจากปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ขณะที่ข้อมูลอัตราการฆ่าตัวตายระดับโลกขององค์การอนามัยโลกปี ค.ศ. 2012 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 57 ของโลก จาก 172 ประเทศทั่วโลกที่มีอัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ยที่ 11.4 ต่อประชากรแสนคน
ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอกอฮอล์เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่ลดลง ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่า 35,488 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่มีมูลค่า 15,149 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.4 จาก
ไตรมาสเดียวกันของปี 2558 แต่ยังต้องรณรงค์ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่อย่างเข้มข้นต่อไปเพื่อลดจำนวนผู้ดื่มแอลกอฮอล์ที่ยังเพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่มอายุ และลดจำนวนผู้สูบหน้าใหม่เนื่องจากเยาวชนยังเป็นกลุ่มที่มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น
คดีอาญาโดยรวมลดลง สถานการณ์ยาเสพติดมีแนวโน้มดีขึ้น คดีอาญาโดยรวมไตรมาสสองของปี 2559 ลดลงร้อยละ 14.6 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 โดยคดียาเสพติดลดลงร้อยละ 11.3 คดีชีวิตร่างกายและเพศ และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์รับแจ้งลดลงร้อยละ 18.9 และ 29.4 ตามลำดับ ในส่วนของคดีข่มขืนและคดีการพนัน แม้ลดลงร้อยละ 19.4 และ 28.1 ตามลำดับจากครึ่งปีแรกของปี 2558 แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับปัญหาความรุนแรงทางเพศและการพนันอย่างเข้มข้น โดยเพิ่มความเข้มข้นการจัดกำลัง
สายตรวจป้องกันคนร้ายประสงค์ต่อทรัพย์
การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกลดลง ไตรมาสสองของปี 2559 อุบัติเหตุจราจรทางบกลดลงร้อยละ 6.9 มีผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 3.1 มูลค่าความเสียหายลดลงร้อยละ 56.9 ขณะที่รายงานสถานการณ์โลก
ด้านความปลอดภัยทางถนนปี 2558 ขององค์การอนามัยโลก ระบุประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิต 36.2
ต่อประชากรแสนคนเป็นประเทศที่มีอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับสองของโลกรองจากลิเบีย เทียบกับอัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 18 คนต่อประชากรแสนคน
ไทยได้เลื่อนอันดับการค้ามนุษย์ Tier 2 Watch List ภายหลังจากที่ได้รับการประเมินในระดับกลุ่มที่ 3 ในปี พ.ศ. 2557-2558 จากการที่ไทยให้ความสำคัญกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ประกาศเจตนารมณ์และกำหนดนโยบายเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้เป็นวาระแห่งชาติและยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เพื่อความมั่นคงและมนุษยธรรม โดยแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไปมุ่งเพิ่มพูนความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพิ่มความร่วมมือระดับทวิภาคีในการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก ครอบคลุมในด้านการคุ้มครองผู้เสียหาย การบังคับใช้กฎหมาย และการส่งกลับและคืนสู่สังคม รวมทั้งการสื่อสารและให้ข้อมูลกับนานาชาติถึงเจตนารมณ์และการดำเนินงานของไทยในการต่อต้านการค้ามนุษย์ อันจะเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศในระดับนานาชาติ
การร้องเรียนสินค้าและบริการลดลง แต่พบปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะในกระบวนการเลี้ยงสัตว์
ที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ผู้บริโภคร้องเรียนผ่านสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคลดลงร้อยละ 3 ขณะที่ยังพบปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหารที่สำคัญ จึงควรมีมาตรการรณรงค์ให้ความรู้แก่เกษตรกรให้เห็นถึงผลเสียเพื่อให้มีการลด เลิกใช้ หรือใช้อย่างถูกต้อง ส่งเสริมการศึกษาวิจัยและรับรองยาทางเลือกเพื่อใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะ ปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายเพื่อกำกับให้มีการใช้อย่างเหมาะสม ป้องกันการลักลอบจำหน่ายยา/เภสัชภัณฑ์ไปใช้ในสัตว์ ตลอดจนผลักดันให้มีฉลากที่แสดงข้อมูลการผลิตอาหารจากสัตว์ที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน
การจัดการขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพด้วยการเปลี่ยนขยะเป็นเชื้อเพลิง การจัดการปัญหาขยะมูลฝอยที่เพิ่มมากขึ้นและสะสมมานาน โดยรัฐบาลได้มีการออก Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย มีแนวคิดที่สำคัญคือ หลักการ 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) ลดการเกิดของเสียหรือขยะมูลฝอย
ที่แหล่งกำเนิด นำของเสียกลับมาใช้ซ้ำและใช้ประโยชน์ใหม่เพื่อลดต้นทุนการผลิตและลดการเกิดขยะมูลฝอย ส่วนขยะที่เหลือจากการคัดแยกนำไปใช้ประโยชน์ใหม่ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้มีเทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากขยะมากมายหลายวิธี เช่น ระบบเตาเผา ระบบแก๊สซิฟิเคชั่น ระบบไพโรไลซิส ระบบก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบ ระบบผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง (Refuse Derived Fuel) หรือ RDF เป็นต้น โดยมีตัวอย่างการผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง RDF ที่ประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ทั้งรูปแบบที่เอกชนดำเนินการรับซื้อขยะจากชุมชนเองหรือรูปแบบที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ประกอบการร่วมกันผลิต RDF โดยข้อจำกัดของการผลิต RDF
ที่สำคัญคือ องค์ประกอบทางเคมี ความร้อน และค่าความชื้นของขยะมูลฝอยที่จะนำมาผลิตเชื้อเพลิงขยะนั้น
มีผลต่อราคาการรับซื้อขยะ ดังนั้น การคัดแยกขยะจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทำให้การกำจัดขยะโดยการพัฒนาเชื้อเพลิงขยะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการกำจัดและจัดการขยะในทุกรูปแบบ
การประกอบอาชีพของแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้านเปลี่ยนจากการเป็นลูกจ้าง
ในงานอันตราย สกปรกและยาก มาเป็นผู้ค้าขายรายย่อยมากขึ้น โดยจากการสำรวจพบว่ากระบวนการเข้าสู่อาชีพค้าขายรายย่อยของคนต่างด้าวมีทั้งการเข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมายแต่เปลี่ยนมาค้าขายรายย่อย โดยมีสาเหตุมาจากพบช่องทางการค้าขายซึ่งมีรายได้ดีกว่าการเป็นลูกจ้างซึ่งเป็นงานไม่ต่อเนื่องและถูกเอาเปรียบ บางส่วนเข้ามาแบบผิดกฎหมายไม่สามารถทำงานได้จึงเข้าสู่การค้าขายรายย่อย แรงงานต่างด้าวที่เป็นผู้ค้าขายรายย่อยร้อยละ 40 เป็นเจ้าของกิจการในหลายรูปแบบทั้งเป็นเจ้าของเอง ให้คนไทยรับเป็นนายจ้าง และรับช่วงจากผู้ออกทุนโดยตกลงแบ่งผลประโยชน์ การที่แรงงานต่างด้าวยังคงประกอบอาชีพผู้ค้ารายย่อยได้ เนื่องจากมีนายจ้างรับสมอ้างจ่ายค่าปรับให้เมื่อถูกจับ และหากถูกผลักดันกลับประเทศก็สามารถกลับมาประกอบอาชีพค้าขายได้อีก สำหรับผลกระทบจากการประกอบอาชีพค้าขายรายย่อยของแรงงานต่างด้าวยังมีมุมมองที่หลากหลาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ค้ารายย่อยไทยเห็นว่ามีผลกระทบเชิงลบต่อผู้ค้าคนไทยในการแย่งตลาดและลูกค้า ขณะที่นักวิชาการเห็นว่าผลกระทบไม่อยู่ในระดับที่น่ากังวล อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวล
ถึงผลกระทบด้านสุขภาพ ความสะอาดและสุขอนามัย การแพร่ระบาดของโรค ปัญหาอาชญากรรม และการใช้ทรัพยากรและบริการสาธารณะ ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีการพิจารณาทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดงานอาชีพสำหรับคนต่างด้าวให้สอดคล้องกับสภาพความต้องการใช้แรงงานต่างด้าว รวมทั้งประชาสัมพันธ์และรณรงค์ผ่านสื่อเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าวให้กับแรงงานต่างด้าวก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานไทย
    การดำเนินงานที่สำคัญในระยะต่อไป มีดังนี้
1. แนวทางการพัฒนาแรงงานในภาพรวม และการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ดังนี้
(1) การพัฒนาแรงงานในภาพรวม โดยการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังแรงงานให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ยกระดับแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานทักษะสูงหรือการเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ การพัฒนาระบบข้อมูลแรงงานไทยโดยเฉพาะแรงงานนอกระบบเพื่อนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพและการคุ้มครองทางสังคม ตลอดจนพัฒนาระบบข้อมูลความต้องการและการผลิตกำลังคนที่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(2) การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว โดยการปรับปรุงระบบข้อมูลแรงงานต่างด้าวทั้งการเพิ่มข้อมูลที่จำเป็นต่อการควบคุมและป้องกัน การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดเก็บให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลและเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานซึ่งจะทำให้ระบบข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อการบริหารแรงงานต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการใช้แรงงานต่างด้าว และให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ขณะเดียวกันให้มีมาตรการส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่การจดทะเบียนเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้สามารถติดตามและกำกับดูแลได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งประชาสัมพันธ์และรณรงค์ผ่านสื่อระดับประเทศเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องกฎหมาย
การทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทย
2. การจัดการปัญหายาเสพติดให้มีประสิทธิภาพที่เน้นการป้องกันโดยใช้กลไกประชารัฐควบคู่กับการปราบปราม การใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่เพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยหลักการ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และสลายโครงสร้างปัญหา พร้อมเปิดโอกาสให้บุคคลที่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการ
ยาเสพติดให้ละเลิกพฤติการณ์ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด รวมถึงการเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างประเทศปลายทาง ต้นทาง และประเทศทางผ่านของยาเสพติด
3. การบริหารจัดการการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกอย่างรอบด้าน โดยการผลักดันให้มี
การดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนให้บรรลุเป้าหมายตามกรอบปฏิญญามอสโก สร้างวัฒนธรรม
การเคารพกฎหมาย และมุ่งเน้นการวิเคราะห์สาเหตุและต้นตอของอุบัติเหตุจราจรทางบกเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
29 สิงหาคม 2559

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์