ข่าวสาร/กิจกรรม
เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2559 และแนวโน้มปี 2559
วันที่ 16 พ.ค. 2559
ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อม ดร.ปัทมา  เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการฯ และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสแรกของปี 2559 และแนวโน้มปี 2559 มีรายละเอียด ดังนี้ 

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2559

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.8
ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวในอัตราสูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 2559 ขยายตัวจากไตรมาสสี่ปี 2558 ร้อยละ 0.9 (QoQ_SA) สูงขึ้นจาก
ช่วงที่ผ่านมา

ด้านการใช้จ่าย การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และการส่งออกบริการท่องเที่ยวขยายตัวสูงเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวที่สำคัญ รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐสำหรับช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร็วขึ้น โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยที่รายจ่ายภาคบริการและการบริโภคสินค้าไม่คงทนขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) การใช้กระแสไฟฟ้า ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ส่วนปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์มีการเร่งซื้อไปแล้วในช่วงก่อนที่จะมีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในวันที่ 1 มกราคม 2559 ในไตรมาสนี้จึงลดลง การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ขยายตัวร้อยละ 8.0 สูงกว่าการขยายตัวร้อยละ 4.8 ในไตรมาสสี่ปี 2558 โดยที่หมวดค่าตอบแทนแรงงาน (ค่าจ้าง เงินเดือน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 รายจ่ายในการซื้อสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 10.0 ด้านการเบิกจ่ายงบประมาณโดยรวมในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 4.7 เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 9.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาครัฐ ยังขยายตัวในอัตราสูงร้อยละ 12.4 โดยที่การลงทุนภาครัฐบาลขยายตัวสูงถึงร้อยละ 16.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเบิกจ่ายการลงทุนในส่วนท้องถิ่นจากโครงการเงินกู้เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนและมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 10.0 โดยที่มีการก่อสร้างภายใต้โครงการต่อเนื่อง คือ โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และการก่อสร้างระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 และร้อยละ 0.9 ตามลำดับ 

ด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 52,257 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 1.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 7.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 แต่ราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 2.4 ในภาวะที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังชะลอตัว สินค้าส่งออกที่ขยายตัว เช่น รถยนต์นั่ง ข้าว และน้ำตาล เป็นต้น สินค้าส่งออกที่ลดลง เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น การส่งออกไปตลาดอาเซียน (5) และออสเตรเลีย ขยายตัว แต่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และ CLMV ลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 5.1 ในขณะที่การส่งออกในรูปเงินบาทมีมูลค่า 1,862 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 ต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 38,956 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 14.4 ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของทั้งปริมาณและราคานำเข้า
การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกและเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ

ด้านการผลิต ขยายตัวในเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และการก่อสร้างขยายตัวสูง การคมนาคมขนส่ง และการค้าส่งค้าปลีก ขยายตัวในเกณฑ์ดี แต่สาขาเกษตรและอุตสาหกรรมยังลดลง โดยสาขาเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 1.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผลผลิตพืชเกษตรสำคัญลดลงจากผลกระทบของภัยแล้ง พืชผลสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน สาขาอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัว เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ยางและพลาสติก อาหารและเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เคมี เป็นต้น กลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดลง ได้แก่ เครื่องแต่งกาย ยานยนต์ สิ่งทอ และอุปกรณ์วิทยุและโทรทัศน์ เป็นต้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 67.3 สาขาการก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 11.2 เป็นการขยายตัวทั้งการก่อสร้างภาครัฐและการก่อสร้างภาคเอกชน โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 14.9 ประกอบด้วยการก่อสร้างของรัฐบาลที่ขยายตัวร้อยละ 15.3 และการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัวร้อยละ 13.9 ส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 7.0 เป็นผลจากการขยายตัวของการก่อสร้างอาคารชุดที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม สาขาโรงแรมและภัตตาคาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 9.0 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการขยายตัวของนักท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียตะวันออก ยุโรป อเมริกา เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา จำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรกในไตรมาสนี้ ประกอบด้วย นักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น และรัสเซีย ตามลำดับ รายรับจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 494.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 69.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 61.8 

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยที่อัตราการว่างงานยังต่ำร้อยละ 1.0 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ -0.5 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 585,060 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.6 ของ GDP 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2559

เศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 – 3.5 โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2558 โดยมีปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวต่อเนื่องจาก (1) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวสูง (2) แรงขับเคลื่อนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ได้จัดทำเพิ่มเติมในช่วงเดือนกันยายน 2558 – มีนาคม 2559 (3) จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง (4) ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำ และ (5) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคเกษตรในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะลดลงร้อยละ 1.7 การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัว ร้อยละ 2.3 และร้อยละ 4.2 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 0.1 – 0.6 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 9.4 ของ GDP รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2559 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้

1. การใช้จ่ายเพื่อบริโภค การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3 ค่อย ๆ เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในปี 2558 แต่ต่ำกว่าการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากการปรับลดการขยายตัวของการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ ที่ยังไม่มีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทำให้ฐานรายได้ภาคครัวเรือนยังมีข้อจำกัด อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์สูงของฐานรายได้จากภาคการท่องเที่ยว และการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐของภาครัฐจะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในปี 2558 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สอดคล้องกับการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 

2. การลงทุนรวม การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.1 เร่งขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 2.0 ในปี 2558 เนื่องจากบรรยากาศการลงทุนภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ทั้งอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำและการลงทุนภาครัฐในโครงการสำคัญต่างๆ มีความก้าวหน้าและชัดเจนมากขึ้น แต่ปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการลงทุนในไตรมาสแรกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ และการใช้อัตรากำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำตามข้อจำกัดการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก ในขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะยังขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องร้อยละ 11.7 ปรับเพิ่มจากการประมาณการครั้งก่อน ตามการขยายตัวได้สูงกว่าคาดการณ์ในไตรมาสแรก แต่ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 29.8 เพราะมีฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น 

3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 1.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 5.6 ในปี 2558 แต่เป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 1.2 ในการประมาณการเดิม เนื่องจากการปรับลดสมมติฐานราคาส่งออก รวมทั้งการปรับลดปริมาณการส่งออกตามสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกที่ต่ำกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกบริการขยายตัวสูงกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการปรับเพิ่มสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยว ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 2.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.2 ในปี 2558 

ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2559

การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2559 ควรให้ความสำคัญกับ 
1. การเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ 
2. ประสิทธิภาพการดำเนินการตามมาตรการภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้มีการอนุมัติไปแล้ว 
3. การดูแลเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากและเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ 
4. การฟื้นฟูเกษตรกรและเตรียมเกษตรกรให้มีความพร้อมสำหรับปีการเพาะปลูก 2559/2560 โดยสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกฤดูกาลใหม่ การดูแลราคาปัจจัยการผลิต การเริ่มต้นการประกันภัยพืชผล และการรวมแปลงการผลิต เป็นต้น 
5. การสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการผลักดันและส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมปัจจุบันและการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับอนาคต (S-Curve/New S-Curve) 
6. การดูแลและขับเคลื่อนภาคการส่งออกตามยุทธศาสตร์การส่งออกของไทยปี 2559 ของกระทรวงพาณิชย์
7. การดูแลภาคการท่องเที่ยว โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว และการแก้ไขปัญหาในภาคการท่องเที่ยว เช่นการแก้ไขปัญหาการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว และการดูแลความปลอดภัย รวมทั้งการแก้ไขปัญหาความแออัดและความสะอาดของสถานที่ท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

ข่าว : สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค
ภาพ : คมสัน  วริวัฒน์ / วันทนีย์  สุขรัตนี


สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์