ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
การประชุมร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน เพื่อหารือทิศทางการพัฒนาภาคในระยะต่อไป 
วันที่ 9 ส.ค. 2567 (จำนวนผู้เข้าชม  54)
ระหว่างวันที่ 19 กรกฎาคม ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2567  สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.น.บ.) โดยกองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาภาค (กยภ.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาค (สพภ.) ได้จัดการประชุมร่วมกับภาคธุรกิจเอกชนเพื่อหารือทิศทางการพัฒนาภาคในระยะต่อไป จำนวน 4 ครั้ง ใน 4 พื้นที่ โดยมีนายโสภณ แท่งเพ็ชร์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือกับภาคเอกชนเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาภาคในระยะต่อไป (ช่วงปี 2571 - 2575) การประชุมแต่ละครั้ง ประกอบด้วย ผู้แทนจากหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งในระดับภาค กลุ่มจังหวัด และจังหวัด เข้าร่วมประชุมรวม 77 คน โดยสรุปประเด็นการพัฒนาสำคัญที่ควรผลักดันและขับเคลื่อนในระยะต่อไปดังนี้

การประชุมครั้งที่ 1 วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567 ณ จังหวัดเชียงใหม่ (ผู้แทนภาคเอกชนจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 และ 2 จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน เชียงราย น่าน พะเยา และแพร่ รวม 21 คน) มีประเด็นการพัฒนาสำคัญ ได้แก่ (1) การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) โดยจัดให้มีกลไกการพัฒนาระดับพื้นที่เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม (2) การยกระดับการท่องเที่ยวและบริการให้ภาคเหนือสามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี (Green Season) โดยยกระดับการท่องเที่ยวคุณภาพเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างเมืองผ่านโครงข่ายเส้นทางคมนาคม ต่อยอดการท่องเที่ยวชุมชน และส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย (3) การพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแปรรูปมูลค่าสูง โดยผลักดันมาตรการทางภาษีที่เอื้อต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่ ยกระดับการขนส่งทางรางเพื่อเชื่อมโยงและกระจายผลผลิตทางการเกษตรไปยังภูมิภาคใกล้เคียง รวมทั้งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด (4) การพัฒนาเมืองและยกระดับคุณภาพชีวิต โดยยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาเมืองน่าอยู่ การจัดทำผังเมืองที่เอื้อต่อการพัฒนาภูมิภาคในอนาคต และการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาพัฒนาแรงงานที่รองรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ในพื้นที่เพื่อลดการเคลื่อนย้ายแรงงาน และการต่อยอดทักษะแรงงานที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ และ (5) การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไข/ป้องกันปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และจัดทำแผนหรือกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก

การประชุมครั้งที่ 2 วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567 ณ จังหวัดกระบี่  (ผู้แทนภาคเอกชนจากกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และภาคใต้ฝั่งอันดามัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล รวม 21 คน) มีประเด็นการพัฒนาสำคัญ ได้แก่ (1) การยกระดับการท่องเที่ยวคุณภาพ โดยจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวที่ครอบคลุมทุกมิติและมีแนวทางชัดเจน พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานภาคการท่องเที่ยวและบริการ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวและทำงานไปด้วยกัน จากกลุ่ม Digital Nomad (2) การยกระดับผลผลิตทางการเกษตรและส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูง อาทิ กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ส้มโอ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความมั่นคงให้กับราคาสินค้า ลดการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ส่งเสริมระบบเกษตรผสมผสาน (3) การสนับสนุนภาคเอกชนในการประชาสัมพันธ์และการทำตลาดต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย (4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโลจิสติกส์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การขนส่งทางราง ท่าเทียบเรือน้ำลึก และ (5) การสนับสนุนโครงการที่ยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นชัดเจนในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เพื่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เช่น การยกระดับผลิตภัณฑ์จากปลิงทะเล การแปรรูปผลผลิตการเกษตรท้องถิ่นเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

การประชุมครั้งที่ 3 วันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567 ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ผู้แทนภาคเอกชนจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน และภาคกลางปริมณฑล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ รวม 17 คน) มีประเด็นการพัฒนาสำคัญ ได้แก่  (1) การยกระดับภาคการเกษตร อาทิ การส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูง การปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร (2) การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการบรรลุเป้าหมาย Net Zero (3) การยกระดับการท่องเที่ยว โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศรัทธา และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health and Wellness) รวมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการยกระดับการบริการและการประชาสัมพันธ์ (4) การพัฒนาคนและทักษะฝีมือแรงงาน อาทิ การพัฒนาทักษะผู้สูงอายุเพื่อเป็นแรงงานในภาคบริการ (5) การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์ทางรางให้เชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียน และ (6) การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (CWEC) โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาให้มีความชัดเจน สอดคล้องกับศักยภาพและต้นทุนของพื้นที่

การประชุมครั้งที่ 4 วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2567 ณ จังหวัดพิษณุโลก (ผู้แทนจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และ 2 จังหวัดพิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี รวม 18 คน) มีประเด็นการพัฒนาสำคัญ ได้แก่ (1) การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ โดยจัดให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม (2) การส่งเสริมการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร โดยสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุน เกิดการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า และใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ (3) การพัฒนาการคมนาคมและโลจิสติกส์ทางราง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการลงทุน รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนล่าง (4) การยกระดับการท่องเที่ยว โดยเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวแหล่งมรดกโลก พัฒนาพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวผ่านสื่อออนไลน์ (5) การกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาภาคเหนือตอนล่างแยกจากภาคเหนือตอนบน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสังคมมาก เพื่อให้ภาครัฐและเอกชนเห็นภาพเป้าหมายการพัฒนาในทิศทางเดียวกันได้อย่างชัดเจน และ (6) การขอความสนับสนุนจาก สศช. ในเรื่ององค์ความรู้และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถจัดทำโครงการเชื่อมโยงการขับเคลื่อนการพัฒนาได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค สามารถขับเคลื่อนและพัฒนาภาคเหนือตอนล่างร่วมกันในระยะต่อไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ในระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2567 สำนักงานฯ จะดำเนินการจัดประชุมฯ อีก 5 ครั้ง 
ในจังหวัดปัตตานี ขอนแก่น นครพนม ราชบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อหารือกับภาคเอกชนให้ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด และ 18 กลุ่มจังหวัด โดยความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค พ.ศ. 2571 - 2575 ที่ สศช.จะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นกรอบชี้นำการพัฒนาพื้นที่ระดับภาคสำหรับการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2571 เป็นต้นไป

ภาพ/ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาภาค (กยภ) และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาค (สพภ.)


                         







สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์