ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
การประชุมเชิงปฏิบัติการ NESDC Social Forum 2024 “Joy of Learning” ครั้งที่ 2 
วันที่ 9 ส.ค. 2567 (จำนวนผู้เข้าชม  85)
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยสายงานสังคม ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ UNFPA ประจำประเทศไทย พร้อมกับบริษัท มูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (SIY) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ NESDC Social Forum 2024 "Joy of Learning” ครั้งที่ 2 ณ โรงแรม วี กรุงเทพฯ เอ็ม แกลเลอรี (ราชเทวี) โดยเป็นการนำผลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนและครู ในครั้งที่ 1 ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา มาขยายผลในวงนโยบาย โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนานโยบายด้านการศึกษาทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวม 35 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนหารือ 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเปิดการประชุมฯ โดยชี้ให้เห็นว่าการขับเคลื่อนแผนพัฒนาประชากรและการสร้างความตระหนักต่อการพัฒนาประชากรในแต่ละกลุ่มวัยเป็นเรื่องที่สำคัญ โดย สศช. ได้มีการจัดประชุม NESDC Social Forum มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลลัพธ์จากการประชุมจะนำไปสู่การออกแบบนโยบายให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในด้านการศึกษาซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย เน้นย้ำว่าการพัฒนาประชากรทุกช่วงวัยเป็นประเด็นที่ UNFPA ให้ความสำคัญ โดย UNFPA พร้อมให้ความร่วมมือแก่ สศช. ในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาประชากรฯ ต่อไป  

นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำเสนอว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษาจะมีการพัฒนาระบบการศึกษาที่มุ่งพัฒนานักเรียนอย่างเป็นองค์รวม โดยการนำแนวทาง Joy of Learning หรือการส่งเสริมให้นักเรียนพบความสุขในการเรียนรู้และสร้างแรงจูงใจในการศึกษาตลอดชีวิตมาประยุกต์ใช้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัย 3 เสาหลัก คือ คน กระบวนการ และสถานที่ ทั้งนี้ ผลการประชุมระดมความคิดเห็นในกลุ่มครูและนักเรียน โดยการใช้เทคนิค Reflective Listening for Reconstruction จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ NESDC Social Forum 2024 "Joy of Learning” ครั้งที่ 1พบว่า มี 4 ประเด็นสำคัญในการออกแบบนโยบาย Joy of Learning ประกอบด้วย 1) การสร้างสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้ 2) การจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับความสนใจของผู้เรียน 3) การลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนของครู และ 4) ครูมีวิธีการสอนที่หลากหลายและตอบสนองต่อผู้เรียน 

จากกระบวนการแลกเปลี่ยนความเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกแบบนโยบาย พบว่า อุปสรรคในการสร้างสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้ เกิดจากการขาดการใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ ข้อจำกัดในการผลิตครูผู้สอนที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ นักเรียนและครูไม่ได้รับการดูแลสุขภาวะทางจิตใจอย่างเพียงพอ และโรงเรียนขาดแคลนทรัพยากรในการจัดการเรียนรู้ โดยมีข้อเสนอที่สำคัญ อาทิ การปรับวิธีการพิจารณางบประมาณที่มุ่งเน้นด้านการศึกษาและการเรียนรู้โดยเฉพาะ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน เพื่อระดมและแลกเปลี่ยนทรัพยากรทางการศึกษาร่วมกัน รวมถึงการเพิ่มจำนวนนักจิตวิทยาในสถานศึกษาเพื่อให้นักเรียนและครูได้รับการดูแลด้านสุขภาพจิตอย่างเหมาะสม ในเรื่องการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนที่เหมาะสม พบปัญหาในการนำลงสู่การปฏิบัติ ทั้งในเรื่องการเชื่อมโยงการศึกษาทุกรูปแบบ (ในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย) ซึ่งมีกฎหมายเอื้อให้ดำเนินการแต่ขาดแนวทางปฏิบัติ รวมถึงการนำหลักสูตรที่ยึดสมรรถนะลงสู่การปฏิบัติ โดยมีอุปสรรคใหญ่ที่ทัศนคติของบุคลากรที่ยังคงยึดติดกับระบบราชการ อีกทั้ง ยังขาดการตกลงเกี่ยวกับสมรรถนะกลางของเด็กไทยร่วมกันเพื่อให้เป็นเข็มทิศการพัฒนาคนของประเทศ ฯลฯ โดยมีข้อเสนอแนะ อาทิ การปรับปรุงกฎระเบียบให้สามารถจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น การพัฒนาสมรรถนะกลางของประเทศที่ทุกคนนำมาใช้ร่วมกัน การจัดทำหลักสูตรที่เน้นสมรรถนะที่ไม่เทอะทะและมีแนวทางการนำไปสู่การปฏิบัติ การให้โรงเรียนจัดการตนเอง 

นอกจากนี้ ปัญหาภาระงานของครูที่ทำให้ครูไม่มีเวลาในการพัฒนาผู้เรียน พบว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การจัดทำเอกสารรายงานจำนวนมากที่เกิดจากนโยบายส่วนกลาง โรงเรียนขาดแคลนงบประมาณ บุคลากร และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการสนับสนุนการทำงานของครู อีกทั้ง ยังพบปัญหาสัดส่วนนักเรียนต่อครูที่สูง ทำให้ครูต้องแบกรับภาระในการสอนจำนวนมากและมีเวลาเตรียมการสอนน้อย โดยมีแนวทางการปรับสภาพการทำงานของครู อาทิ การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการศึกษา โดยนำรายได้จากภาษีบางประเภท (ภาษีบาปหรือสลากกินแบ่ง) มาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้และพัฒนาของครูโดยตรง การมีหน่วยงานภายนอกที่เป็นกลางมาดำเนินการประเมินผลการทำงานของครู และควรมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อจ้างบุคลากรเพิ่มเติมมาช่วยเหลือครูในการทำงานด้านเอกสารและธุรการ หรือให้ค่าตอบแทนเพิ่มเติมแก่ครูที่ต้องปฏิบัติงานนอกเหนือจากการสอน ในประเด็นวิธีและกระบวนการสอนของครู พบว่า ระบบการผลิตครูในปัจจุบันยังเผชิญกับหลายปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพการสอน อาทิ การขาดแคลนวิชาจิตวิทยาประยุกต์ในหลักสูตรครุศาสตร์ การรับนโยบายจากส่วนกลางจำนวนมากโดยขาดเครื่องมือที่เหมาะสมในการนำไปปฏิบัติ ผู้ตรวจประเมินยังขาดความเข้าใจในแนวทางการสอนที่ทันสมัย นอกจากนี้ ครูบางส่วนยังขาดความเข้าใจในเนื้อหาที่สอน ทำให้เลือกใช้วิธีการสอนที่ไม่เหมาะสม ปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับปรุงระบบการผลิตและพัฒนาครูให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ อาทิ สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยทั้งทางกายและใจ การเปิดโอกาสให้ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาครู โดยมุ่งเน้นให้ครูมีความสุขในการทำงาน และสามารถพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ ผ่านกระบวนการที่ครูสามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบและเลือกได้เอง

ทั้งนี้ ผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ สศช. จะนำไปประมวลผลเพื่อจัดทำเอกสารเชิงนโยบาย (policy brief) ต่อไป

ข่าว : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคม
ภาพ : เมฐติญา  วงษ์ภักดี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์