ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์ ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาไท จัดประชุมเวทีวิชาการพื้นที่ปฏิบัติการที่ยั่งยืน (SDG Lab) : กรณีศึกษาการแก้ปัญหาช้างป่าภาคตะวันออก
วันที่ 6 มิ.ย. 2567 (จำนวนผู้เข้าชม  37)
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาไท (มพท.) จัดประชุมเวทีวิชาการพื้นที่ปฏิบัติการที่ยั่งยืน (SDG Lab) : กรณีศึกษาการแก้ปัญหาช้างป่าภาคตะวันออก ณ ห้องประชุม 521 อาคาร 5 ชั้น 2 สศช. และผ่านระบบ Zoom meeting โดย นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม และนางสาวดวงกมล วิมลกิจ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม เป็นประธานการประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้แทนภาคประชาสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินการงานและหารือแนวทางการบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาช้างป่าภาคตะวันออกในระดับพื้นที่ที่จะนำไปสู่การออกแบบเชิงนโยบาย

นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการฯ กล่าวถึงบทบาทของ สศช. ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาช้างป่าภาคตะวันออก โดยส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่าย ตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ภายใต้แผนแม่บท ประเด็นพลังทางสังคมที่มุ่งเน้นดึงพลังของภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาเป็นภาคีการพัฒนา โดยจัดทำโครงการพื้นที่ปฏิบัติการที่ยั่งยืน (SDG Lab) ที่มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นเป้าหมายการดำเนินงาน และใช้ภาคีเครือข่ายร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ค้นหาโจทย์การพัฒนาและกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกัน ซึ่งมีภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ต้นแบบการขับเคลื่อน โดยสถานการณ์ช้างป่าในภาคตะวันออกเกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายในพื้นที่ไม่สามารถรับมือและจัดการกับปัญหาได้ จึงกำหนดให้ การจัดการช้างป่าภาคตะวันออก เป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สศช. ได้จัดประชุมหารือร่วมกับผู้ปฏิบัติงานและผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่า ควรมีมุมมองทางวิชาการและองค์ความรู้ใหม่ ๆ จากงานวิจัยและบทเรียนจากต่างประเทศ เพื่อนำมาจัดทำเป็นแนวทางการจัดการปัญหาช้างป่าให้เท่าทันต่อสถานการณ์และเกิดความยั่งยืน จึงได้มีการจัดประชุมในครั้งนี้เพื่อหาแนวทางและออกแบบกระบวนการที่เปิดโอกาสให้เครือข่ายภาคีการพัฒนาในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกับภาครัฐ

นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำเสนอแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า โดยมีคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่าเป็นกลไกระดับนโยบาย กำหนดกรอบการดำเนินงาน 6 ด้าน ได้แก่ (1) จัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า (2) การจัดการแนวป้องกันช้างป่า (3) สนับสนุนชุดเฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่าและเครือข่ายชุมชน (4) การช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า (5) การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่า (6) การจัดการประชากรโดยการควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้นำกรอบการดำเนินงานดังกล่าวมาจัดทำเป็น (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาช้างป่า พ.ศ. 2567 – 2571 ที่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งดำเนินการตามแผนการจัดการช้างป่าระดับกลุ่มป่า (แผน 10 ปี) ดังนี้ (1) การจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยฟื้นฟูป่า/แหล่งน้ำ และรักษาพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่า (2) การจัดการพื้นที่แนวกันชน อาทิ สร้างรั้ว/คูกันช้างป่า จัดทำระบบเฝ้าระวังเตือนภัยช้างป่า (3) การจัดการด้านการมีส่วนร่วม โดยสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า และสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากช้าง นอกจากนี้ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช้างป่า เพื่อแสวงหาความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ ภาคเอกชน และมูลนิธิ มาร่วมทำงานแก้ไขปัญหา ปัจจุบันกรมอุทยานฯ ได้ขอรับการสนับสนุนงบกลาง ประจำปีงบประมาณ 2567 ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากช้างป่าในพื้นที่ชุมชนรอบพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน เช่น การซื้อโดรนเทอร์มอล ในการติดตามและเฝ้าระวังช้างป่า การช่วยเหลือเยียวยากรณีพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น ทั้งนี้ การประชุมในครั้งนี้เป็นประโยชน์ในด้านการสร้างความร่วมมือที่ดีกับภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการปิดช่องว่าง และแสวงหาแนวร่วมในการหนุนเสริมการขับเคลื่อนดังเช่นที่เคยดำเนินการมา อาทิ การส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการปัญหาสัตว์ป่าในพื้นที่ โดยใช้กลไกคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการแก้ไขพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้สามารถจัดตั้งกองทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบที่ได้รับจากสัตว์ป่า เป็นต้น

นายพิทักษ์ ยิ่งยง เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้นำเสนอพัฒนาการของการจัดการปัญหาช้างป่าภาคตะวันออกในพื้นที่ โดยเริ่มเกิดปัญหาช้างป่า เมื่อปี 2557 การดำเนินการในช่วงแรกเป็นการแก้ไขปัญหาไปตามอาการ โดยเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ ทำหน้าที่ในการผลักดันช้างป่า เมื่อช้างป่าบุกรุกพื้นที่เกษตรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ จึงจัดตั้งอาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่า ในปี 2558 เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ มีการจัดทำพื้นที่ตัวอย่างการใช้รั้วไฟฟ้าป้องกันช้างป่า ต่อมาในปี 2560 ได้ยกเลิกการปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ที่ช้างป่าบุกรุก ส่งผลให้ช้างป่าทยอยกลับเข้าป่า หลงเหลือช้างป่าที่บุกรุกเข้ามาในพื้นที่ประมาณ 30 ตัว จากเดิม 100 ตัว ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้สรุปบทเรียนแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนี้ (1) ตัดปัจจัยที่ทำให้ช้างป่าออกจากป่า ได้แก่ อาหาร น้ำ และที่พัก (2) โซนนิ่งตามข้อจำกัดด้านความสามารถของช้างป่า (3) จำกัดพื้นที่การกระจายของช้างป่าเพศผู้เพื่อลดฝูงช้างใหม่ ทั้งนี้ โจทย์สำคัญที่ต้องเร่งหาคำตอบ คือ ข้อมูลจำนวนช้างป่าที่แน่นอน ความสามารถในการรองรับสัตว์ป่าของแต่ละกลุ่มป่า การจัดลำดับความสำคัญขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งการพัฒนาทักษะของบุคลากรในการจัดการปัญหาช้างป่า

จากนั้นนักวิชาการได้ร่วมกันนำเสนอตัวอย่างและแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าจากงานศึกษาวิจัยทั้งในไทยและต่างประเทศ โดย รศ.ดร.รองลาภ สุขมาสรวง คณะวนเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปบทเรียนแนวทางการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าจาก 13 ประเทศ พบว่า ความขัดแย้งดังกล่าว มีส่วนประกอบสำคัญ ได้แก่ (1) ช้างป่า คือ จำนวนประชากรช้างป่า แหล่งอาหาร น้ำ และแนวเชื่อมต่อของพื้นที่ป่าเพื่อการอพยพ (2) มนุษย์ คือ การเข้าใช้ประโยชน์จากที่ดิน นโยบายในการจัดการปัญหาช้างป่าบุกรุก และการยอมรับการมีอยู่ของช้างป่า โดยปัจจัยที่เป็นแรงกดดันให้ช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ อาทิ การเกิดไฟป่า ความแห้งแล้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ และมีตัวแปรที่เป็นแรงเสริมทางบวก/ลบ ต่อความรุนแรงของความขัดแย้ง อาทิ แหล่งน้ำ ชนิดของพืชเกษตร จำนวนปัญหาความขัดแย้ง และการเยียวยาที่เหมาะสม พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ทำให้เกิดการยอมรับการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า ประกอบด้วย (1) การปรับความคิดและสร้างทัศนคติที่ดีระหว่างคนกับช้างป่า (2) การปรับพฤติกรรมของช้างป่า (3) การจัดการประชากรช้างป่า (4) การสร้างพื้นที่อาศัยของช้างป่า (5) การป้องกันช้างป่าออกนอกเขตพื้นที่อนุรักษ์ (6) การศึกษาวิจัย (7) สังคมและชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และ (8) การจัดการเชิงนโยบายและระบบ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาควรคำนึงถึงความคุ้มค่า และการยอมรับจากผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่าเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน

รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่า ปัญหาช้างป่าไม่เพียงสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตของเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ โดยภาคตะวันออกเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ พร้อมทั้งเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย (1) เข้าใจทัศนคติของชุมชน/ระดับการยอมรับได้ของผู้ได้รับผลกระทบ (2) เข้าใจปัจจัยที่ทำให้ช้างป่าออกนอกพื้นที่ ทั้งนี้ ความเป็นไปได้ในการลดผลกระทบ คือ (1) การฟื้นฟูสภาพป่าให้รองรับช้างป่าได้มากขึ้น (2) การจัดตั้งหน่วยผลักดันช้าง (3) การให้การศึกษากับโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ สำหรับการดำเนินการในอนาคต ควรมีการติดตามแนวโน้มและการควบคุมประชากรช้างป่าอย่างเป็นระบบ มีการพัฒนาคุณภาพ/ปริมาณของพืชอาหาร ที่อยู่อาศัย และพัฒนาการรับรู้ที่ถูกต้องต่อสาธารณชน

น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว ได้นำเสนอโครงการศึกษาเพื่อลดความขัดแย้งจากปัญหาช้างป่าภาคตะวันออกอย่างบูรณาการและยั่งยืน ซึ่งศึกษาการติดตามการเคลื่อนที่ของช้างป่าด้วยปลอกคอติดตามตัวระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS) จะช่วยนับจำนวนประชากรช้างป่า และเรียนรู้พฤติกรรมของช้างป่า มีการประเมินผลกระทบความขัดแย้งที่มีต่อพื้นที่ชุมชนโดยรอบ มีการเก็บตัวอย่างและตรวจประเมินสุขภาพช้างป่า พัฒนาต้นแบบระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการออกมานอกพื้นที่ของช้างป่าให้เครือข่ายเฝ้าระวัง ติดตาม และผลักดันช้างแบบเป็นปัจจุบัน รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ให้แก่เครือข่ายเฝ้าระวังและประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การจัดการกับปัญหาช้างป่าที่ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ การสร้างความเข้าใจในสังคม การปลดล็อคข้อจำกัดด้านกฎหมายและระเบียบ รวมทั้งการระดมทรัพยากรในการแก้ไขปัญหาให้ทันสถานการณ์ 

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นถึงแนวทางการบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาช้างป่าภาคตะวันออก โดย นายคำรณ เลียดประถม หัวหน้าศูนย์ประสานงานอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้กลุ่มป่าภาคตะวันออกที่ 1 กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องพื้นที่ที่เกิดปัญหาส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ของกรมป่าไม้ ซึ่งกรมป่าไม้ยังไม่มีนโยบายหรือมาตรการที่ชัดเจนกับการจัดการเรื่องช้างป่า รวมทั้งบุคลากรยังขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาควรพิจารณาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่และช้างป่าด้วย ดร.นันทิกร กิจรัตน์ภร ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมและภูมิสารสนเทศ พร้อมให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ปัจจัยและประเมินศักยภาพของพื้นที่ที่จะรองรับช้างป่า การใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลของทั้งคนและช้างป่า อันจะนำไปสู่การวางแผนการจัดช้างป่าระยะยาวได้ ดร.วรพล นันสุ ผู้แทนจากกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่ากรมวิทยาศาสตร์บริการ มีองค์ความรู้และเทคโนโลยี อาทิ AI Robotics ที่สามารถนำมาสนับสนุนการแก้ไขปัญหา โดยจะตั้งเป็นโจทย์งานศึกษาวิจัยเพื่อช่วยหาทางแก้ไขปัญหาด้วยหลักวิทยาศาสตร์ นายครรชิต เข็มเฉลิม และนายสุนทร คมคาย ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้แสดงทัศนะเรื่องการยกระดับการจัดการช้างป่าภาคตะวันออกโดยหาแนวทางแก้ไขใหม่ ๆ แบบนอกกรอบ และยกให้เป็นพื้นที่ตัวอย่าง เพื่อเป็นบทเรียนสำคัญให้กับพื้นที่กลุ่มป่าอื่น ๆ ในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยกับภาคตะวันออก และควรศึกษาปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากคน ซึ่งจะทำให้เห็นมุมมองและแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบใหม่ ๆ ได้ด้วย 

ทั้งนี้ สศช. จะรวบรวมข้อมูล ประเด็นปัญหาอุปสรรค ข้อจำกัดในการดำเนินงาน และข้อเสนอแนะในการพัฒนาแนวทางการจัดการปัญหาช้างป่าภาคตะวันออก เพื่อออกแบบแนวทางการบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาช้างป่าภาคตะวันออกทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย รวมทั้งประสานเชื่อมโยงภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อค้นหานวัตกรรมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาช้างป่าภาคตะวันออกต่อไป 

ข่าว : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม
ภาพ : จักรพงศ์ สวภาพมงคล

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์