ข่าวสาร/กิจกรรม
|
สศช. ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (CEO Visit) กับกรมส่งเสริมบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “การขับเคลื่อนและยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ: ความท้าทายต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตไทย”
วันที่ 26 มี.ค. 2567
|
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 นางสาวนภัสชล ทองสมจิตร ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่กองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดย นายแพทย์อัครพล คุรุศาสตรา ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ ดร.กันยารัตน์ กุยสุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง การขับเคลื่อนและยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) ณ ห้องประชุม conference ชั้น 4 อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพการขับเคลื่อนและยกระดับศักยภาพของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) (พ.ศ. 2560 - 2569) เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ 4 ด้าน ประกอบด้วย (1) Medical Service Hub ศูนย์กลางบริการรักษาพยาบาล (2) Wellness Hub ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (3) Product Hub ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ และ (4) Academic Hub ศูนย์กลางบริการวิชาการทางการแพทย์ ทั้งนี้ ในปี 2559 - 2565 ประเทศไทยมีผลการดำเนินการด้านการเป็นศูนย์กลางบริการรักษาพยาบาล (Medical Service Hub) ค่อนข้างก้าวหน้ากว่าด้านอื่น ๆ
ดังนั้น เพื่อสนับสนุนการยกระดับศักยภาพไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจึงเห็นว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าวต้องให้ความสำคัญกับ (1) การกำหนดหน่วยงานหลักในการดำเนินนโยบาย Medical Hub และการกำหนดแผนบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน (2) การสนับสนุนสถาบันการศึกษาในด้านวิชาการทางการแพทย์ เพื่อการผลิตบุคลากรด้านสุขภาพ โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาลเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน (3) การตรากฎหมายรองรับสำหรับสถานประกอบการที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และเครื่องมือแพทย์ และ (4) การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Medical Hub นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรร่วมกันกำหนดกรอบนโยบายเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร รวมถึงการกำหนดนิยามที่ชัดเจนของการเป็น Medical Tourism และการเป็น Wellness Tourism เพื่อให้การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีความชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ข่าว/ภาพ: กองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค |