ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สศช. ลงพื้นที่ เกาะสมุย เพื่อศึกษาวิเคราะห์ “การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว” และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์เป้าหมายผ่าน “การท่องเที่ยวเชิงกีฬา”
วันที่ 8 มี.ค. 2567 (จำนวนผู้เข้าชม  23)
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ลงพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อศึกษาวิเคราะห์สภาพความเป็นไปในพื้นที่และประเด็นปัญหา โอกาสการพัฒนา และประเด็นท้าทายของ "การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว” และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์เป้าหมายผ่าน "การท่องเที่ยวเชิงกีฬา” เพื่อนำมาประกอบในการกำหนดทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่และในระดับประเทศ

เมื่อวันที่ 3 – 5 มีนาคม 2567 นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 
และนางสาวศศิธร พลัตถเดช ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน นายอธิพงศ์ หิรัญเรืองโชค ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ สศช. ได้ลงพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อศึกษาวิเคราะห์สภาพความเป็นไปในพื้นที่และประเด็นปัญหา โอกาสการพัฒนา และประเด็นท้าทายของ "การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว” และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์เป้าหมายผ่าน "การท่องเที่ยวเชิงกีฬา” โดยคณะ สศช. ได้เข้าพบปะหารือ รับฟังความคิดเห็น ประเด็นปัญหา และศึกษาการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ผ่านประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1.  การรับฟังประเด็นโอกาสและปัญหาด้านการท่องเที่ยว คณะ สศช. ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนภาครัฐและภาคเอกชน ณ ที่ว่าการอำเภอเกาะสมุย ในประเด็นทิศทางด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและปัญหาภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยหน่วยงานต่าง ๆ ได้สะท้อนประเด็นโอกาสในการพัฒนาและปัญหาด้านการท่องเที่ยวให้คณะได้ทราบในหลายด้าน โดยเฉพาะประเด็นด้านความปลอดภัยของการท่องเที่ยวในพื้นที่ การบริหารจัดการปัญหาภาคการท่องเที่ยว การพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวร่วมกับชุมชน และปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกันระหว่างภาคการท่องเที่ยวและชุมชน 

2.  การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและยกระดับสินค้าชุมชน คณะ สศช. ได้ลงพื้นที่บ้านโบราณ ณ สมุย ซึ่งปัจจุบันได้เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมเรียนรู้วัฒนธรรมดั้งเดิมของคนในพื้นที่ เพื่อศึกษาแนวทางการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ ให้สอดรับต่อบริบทการท่องเที่ยวในปัจจุบัน นอกจากนี้ คณะยังได้เข้าศึกษากระบวนการผลิตกาละแมของร้านแม่ยินดี ซึ่งเป็นสินค้าชุมชนกลุ่มแรกที่ได้รับการยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ของอำเภอเกาะสมุย เพื่อรับฟังแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของพื้นที่ให้ตรงต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว และประเด็นการสนับสนุนจากภาครัฐในการพัฒนาธุรกิจท้องถิ่น

3.  การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยว คณะ สศช. ได้ลงพื้นที่เป้าหมายในการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ บริเวณแหลมคม และจุดเป้าหมาย 3 พื้นที่ในโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะสมุย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งนี้คณะได้รับฟังประเด็นความคืบหน้าการดำเนินงานของโครงการทั้ง 2 ส่วน และความเห็นของภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งในส่วนของผู้ดำเนินโครงการและผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ รวมทั้งได้ศึกษาสภาพแวดล้อมและบริบทความเหมาะสมของพื้นที่ต่าง ๆ ที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาโครงการ

 4.  การบริหารจัดการขยะจากภาคการท่องเที่ยว คณะ สศช. ได้ลงพื้นที่ ณ โรงเตาเผาขยะเทศบาลนครเกาะสมุย เพื่อศึกษาประเด็นปัญหา สภาพพื้นที่ และรับฟังแนวทางกระบวนการบริหารจัดการขยะของเทศบาลนครเกาะสมุย ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานกว่า 20 ปี จากระบบการบริหารจัดการที่มีปัญหาโดยเฉพาะเตาเผาขยะที่ชำรุดและไม่สามารถใช้การได้ ส่งผลให้มีจำนวนขยะสะสมในพื้นที่กว่า 300,000 ตัน และมีปริมาณขยะใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละกว่า 150 ตัน ทั้งนี้ ปริมาณขยะพื้นที่มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นจากขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาทั้งในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การสาธารณสุข และภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว 

5.  การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) คณะ สศช. ได้ลงพื้นที่ ณ ค่ายมวย Superpro และค่ายมวยแม่น้ำมวย ซึ่งเป็นค่ายมวยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานค่ายมวยไทยอาชีพ ปี พ.ศ. 2565 จากการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อศึกษาประเด็นโอกาสการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านรูปแบบ "การท่องเที่ยวเชิงกีฬา” ตามเป้าหมายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์เป้าหมายของรัฐบาล ทั้งนี้อำเภอเกาะสมุยมีค่ายมวยที่เปิดสอนมวยไทยให้แก่ชาวต่างชาติและมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญของประเทศในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงกีฬาให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในภาคการท่องเที่ยว กีฬา การบริการ ของประเทศไทยให้เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพ/ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์