ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สศช. ประชุมหารือข้อเสนอโครงการ “การออกแบบเมืองฟองน้ำต้นแบบสำหรับประเทศไทย เพื่อความยืดหยุ่นของเมือง”ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) รัฐบาลออสเตรเลีย และองค์กรพันธมิตร
วันที่ 6 มี.ค. 2567 (จำนวนผู้เข้าชม  29)
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 นายโสภณ แท่งเพ็ชร์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วย นางสาวชณกช ชสิธภนญ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง นายธัชไท กีรติพงศ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่กองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง ได้ประชุมหารือ กับ ธนาคารพัฒนาเอเชีย นำโดย Mr. Anouj Mehta ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทน ADB ประจำประเทศไทย (ADB Thailand Resident Mission : TRM)) Dr. Norio Saito ผู้อำนวยการอาวุโส Water and Urban Development Sector Office และ Mr. Stefan Rau ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง รวมทั้ง องค์กรพันธมิตร อาทิ Mr. Ben Furmage  ผู้บริหาร (CEO) ของ Cooperative Research Centre for Water Sensitive Cities (CRCWSC) ประเทศออสเตรเลีย ตลอดจน ผู้แทนจากเมืองต่าง ๆ ในประเทศไทย ได้แก่ เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา เทศบาลนครพิษณุโลก เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครยะลา และกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมหารือกรอบแนวทางการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอโครงการ "การออกแบบเมืองฟองน้ำต้นแบบสำหรับประเทศไทย เพื่อความยืดหยุ่นของเมือง” ภายใต้แผนงาน TA 10079-THA: Strengthening the Bio-Circular-Green Economy ณ สำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชียประจำประเทศไทย อาคารสำนักงานเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 23 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 

การประชุมหารือฯ เริ่มด้วยการกล่าวเปิดโดย Mr. Anouj Mehta และ รศช. โสภณฯ จากนั้น ผอ. กพม. นำเสนอข้อเสนอโครงการฯ ตามด้วย Mr. Norio Saito แนะนำ ส่วนงานการพัฒนาน้ำและเมือง พร้อมทั้ง Portfolio ของโครงการประเภทต่าง ๆ ที่ ADB สนับสนุนในช่วงปี ค.ศ. 2014-2023 โดยเฉพาะโครงการที่เพิ่มความสามารถในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น โครงการฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศเมืองชายฝั่งในประเทศบังกลาเทศ  โครงการการจัดการน้ำท่วมเมืองแบบบูรณาการสำหรับลุ่มน้ำเจนไน-โฆษัทไลยาร์ในประเทศอินเดีย และโครงการลงทุนเมืองน่าอยู่เพื่อการพัฒนาที่สมดุลในประเทศจอร์เจีย เป็นต้น  ลำดับต่อมา Mr. Stefan Rau นำเสนอ โครงการเมืองฟองน้ำที่ ADB ให้การสนับสนุนในประเทศจีน จำนวนมาก อาทิ โครงการ Jiangxi Pingxiang Integrated Rural-Urban Infrastructure Development ในเขตเทศบาลเมืองผิงเซียง มณฑลเจียงซี ซึ่งปรับปรุงการจัดหาน้ำ การบำบัดน้ำเสีย การจัดการขยะมูลฝอยและการฟื้นฟูแม่น้ำแบบบูรณาการ  โครงการ Jilin Yanji Low-Carbon Climate-Resilient Healthy City ในเมืองหยานจี๋ มณฑลจี๋หลิน มุ่งแก้ไขปัญหาการจราจร รวมถึงความเสี่ยงจากน้ำท่วมและสภาพภูมิอากาศ ด้วยรถโดยสารด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit: BRT) ปรับปรุงเครือข่ายจักรยานและทางเดินเท้า รวมทั้งออกแบบสวนสาธารณะให้เป็นแนวเส้นตรง  โครงการ Shanxi Changzhi Low-Carbon Climate-Resilient Circular Economy Transformation ของเมืองฉางจือ มณฑลซานซี ซึ่ง ADB ช่วยเหลือด้านการเงิน และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและบริการสีเขียวในเมือง และลำดับสุดท้าย Mr. Ben Furmage (CRCWSC) นำเสนอโครงการที่รัฐบาลออสเตรเลียสนับสนุน โดยยกตัวอย่างเมืองฟองน้ำในเมืองคุนซาน ประเทศจีน ซึ่งบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานหลัก (Gray Infrastructure) เช่น ถนน ทางเท้า กับโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure) เช่น สวนสาธารณะ ลำคลอง อย่างเป็นระบบเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตเมือง

ผู้แทนจากเมืองต่าง ๆ ในประเทศไทย ได้แก่ เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา เทศบาลนครพิษณุโลก เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครยะลา และกรุงเทพมหานคร ได้นำเสนอข้อมูลพื้นฐานของเมือง สถานการณ์ ประเด็นปัญหา โดยเฉพาะผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง  รวมทั้ง การดำเนินงานที่ผ่านมา การเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอนาคต ตลอดจนความต้องการขอรับความช่วยเหลือจาก ADB ซึ่งธนาคารฯ จะพิจารณาข้อมูลเหล่านี้ประกอบการคัดเลือกเมือง เพื่อรับการสนับสนุนภายใต้โครงการ"การออกแบบเมืองฟองน้ำต้นแบบสำหรับประเทศไทย เพื่อความยืดหยุ่นของเมือง” ในระยะต่อไป

รศช. โสภณฯ ได้กล่าวปิดการประชุมหารือ โดยเสนอแนะปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินงานโครงการฯ ได้แก่ (1) การสร้างความตระหนักรู้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแนวทางการรับมือด้วยแนวคิดเมืองฟองน้ำ (2) การสร้างขีดความสามารถให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความพร้อมในการออกแบบเมืองฟองน้ำ และ (3) การวางแผนในเชิงเทคนิคเพื่อสร้างเมืองฟองน้ำ 

ในระยะต่อไป สศช. และ ADB จะร่วมกันกำหนดขอบเขตและแผนการดำเนินงานในรายละเอียด โดยมีผลผลิตสำคัญของโครงการฯ ได้แก่ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อขยายผลการดำเนินงานด้านเมืองฟองน้ำทั่วประเทศ และคู่มือแนวทางในการออกแบบเมืองฟองน้ำสำหรับประเทศไทย รวมทั้งพิจารณาคัดเลือกพื้นที่นำร่องที่เหมาะสมหรือมีความพร้อมทั้งด้านเทคนิคและการเงิน สำหรับทดลองดำเนินการตามคู่มือแนวทางฯ ดังกล่าว เพื่อออกแบบเมืองให้มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะภัยพิบัติจากน้ำท่วมและน้ำแล้ง ซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงและความถี่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต 


กองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์