ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์ ร่วมกับ OECD ประชุมเริ่มต้นโครงการเพื่อเปิดตัวกรอบการทำงานสำหรับการเปลี่ยนผ่านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของอุตสาหกรรม (Framework for industry’s net-zero transition)
วันที่ 19 ก.พ. 2567 (จำนวนผู้เข้าชม  25)
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จัดให้มีการประชุมเริ่มต้นโครงการเพื่อเปิดตัวกรอบการทำงานสำหรับการเปลี่ยนผ่านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของอุตสาหกรรม (Framework for industry’s net-zero transition) โดยได้รับเกียรติจาก ดร.แอ็นสท์ ไรเชิล (H.E. Dr. Ernst Reichel) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ประจำประเทศไทย นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนางสาวมัททิว เมสนาร์ท (Ms. Mathilde Mesnard) รองผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมของ OECD เป็นประธานร่วมเปิดการประชุมฯ พร้อมด้วยนายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน (กพข.) และเจ้าหน้าที่กองยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (กคพ.) ให้การต้อนรับและหารือกับผู้แทนหน่วยงานระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ สถาบันการศึกษา รวมประมาณ 70 คน

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ สศช. ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนในเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำในภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทย จะต้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อปรับตัวให้ทันกับภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยกรอบการทำงานของ OECD จะสนับสนุนการเตรียมพร้อมด้านการเงินและปรับปรุงปัจจัยสนับสนุนที่ช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมไทยไปสู่การผลิตคาร์บอนต่ำ ซึ่งประเทศไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกรอบการดำเนินการดังกล่าว หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการผันผวนทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สศช. ในฐานะหน่วยงานวางแผนหลักของประเทศตระหนักว่าประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญจำเป็นต้องนำเสนอนโยบายที่สามารถบริหารจัดการประเทศต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็น "สังคมก้าวหน้าและเศรษฐกิจสร้างมูลค่าที่ยั่งยืน” ภายในปี 2570 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ จำเป็นต้องมีการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศของประเทศไทยและ OECD

ในส่วนการดำเนินโครงการระดับประเทศของประเทศไทยกับ OECD ในระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2568) มีโครงการภายใต้ 4 เสาหลักเชิงยุทธศาสตร์ของโครงการประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่งและจะมีส่วนสนับสนุนอย่างมากต่อความพยายามของประเทศไทยในการขับเคลื่อนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลายมิติ อาทิ ด้านคมนาคมขนส่ง ด้านพลังงาน และการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ให้เกิดความยั่งยืนและสามารถรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศให้ใกล้เคียงกับมาตรฐานสากลมากขึ้น ขณะเดียวกัน ภายใต้โครงการ Clean Energy Investment and Financing Mobilisation (CEFIM) ของ OECD ในประเทศไทย และโครงการ Sustainable Infrastructure Program in Asia (SIPA) ในโครงการเสาหลักที่สี่ของประเทศ ระยะที่ 2 จะช่วยสนับสนุนการลดการผลิตคาร์บอนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 5 ด้าน และเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยผ่านการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ (technical assistance) การวิจัยเชิงนโยบายต่าง ๆ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะและการนำองค์ความรู้เชิงลึกของ OECD เกี่ยวกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาล การเงินและกฎระเบียบ การพัฒนาทุนมนุษย์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นแนวทางให้การกำหนดและวางแผนยุทธศาสตร์ให้กับประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาวของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการดำเนินการในระยะต่อไป OECD จะได้ดำเนินการศึกษาการลดการปล่อยคาร์บอนของภาคปิโตรเคมีของประเทศไทย รวมถึงห่วงโซ่มูลค่าพลาสติก ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ หลายสาขา และประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีรายใหญ่ของโลก รวมทั้งประเทศไทยมีวัตถุดิบชีวมวลที่มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งสามารถนำมาใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและชีวมวล เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งยังเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามเจตจำนงของประเทศไทยในการบรรลุความเป็นกลางคาร์บอนภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2568 ตามลำดับ ทั้งนี้ สศช. และ OECD ได้กำหนดกรอบการทำงานของโครงการศึกษารายงานฉบับนี้ โดยแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจและเชิญผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม มหาวิทยาลัย และองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 35 หน่วยงาน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยการหารือแบบทวิภาคีและการประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตรวจสอบการเลือกกรณีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การกำหนดแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรม การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและทางเลือกแหล่งเงินทุน การจัดทำ (ร่าง) รายงานผลการศึกษา การประชุมตรวจรับผลการศึกษา ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี พ.ศ. 2567 และจะมีการติดตามและประเมินผลโครงการ ปี พ.ศ. 2568 หลังจากผลการศึกษาฉบับนี้เสร็จสมบูรณ์ สศช. จะนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อทราบผลการศึกษาฯ ในช่วงไตรมาส 3 ปี พ.ศ. 2568 และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป


ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน (กพข.)
ภาพ : เมฐติญา  วงษ์ภักดี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์