เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สายงานสังคมให้การต้อนรับ Professor Wolfgang Lutz, Interim Deputy Director General for Science และ Professor Sergei Scherbov, Distinguished Emeritus Research Scholar, Social Cohesion, Health, and Wellbeing Research Group Population and Just Societies จาก International Institute for Applied Systems Analysis (IIASA) และศาสตราจารย์ ดร. วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสและแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือกับ สศช. ด้านประชากร การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการวิจัยเพื่อพัฒนาสังคมสูงวัย และการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน ณ ห้องประชุม สุนทร หงส์ลดารมภ์ สศช.
Professor Wolfgang Lutz ได้นำเสนอและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบัน IIASA ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ก่อตั้งขึ้นโดยสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศจากยุโรปตะวันออกและตะวันตกอีก 10 ประเทศ เมื่อปี ค.ศ. 1972 ณ เมือง Schloss Laxenburg ประเทศออสเตรีย โดยมีจุดมุ่งหมายในการใช้วิทยาศาสตร์แก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศในช่วงสงครามเย็น ปัจจุบัน IIASA มุ่งใช้การวิเคราะห์เชิงระบบ (system analysis) ในการให้ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนแต่เชื่อมโยงกัน (mulidimensional and interconnected) ที่ส่งผลต่อมวลมนุษยชาติอย่างเป็นองค์รวม และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานทดแทน ประชากร การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาทุนมนุษย์ การลดความยากจนและการสร้างความเสมอภาคในสังคม ปัจจุบัน IIASA มีสมาชิกทั้งสิ้น 21 ประเทศ โดยประเทศในอาเซียนที่เป็นสมาชิก อาทิ เวียดนาม มีนักวิจัยกว่า 500 คน ในสาขาต่าง ๆ อาทิ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ คณิตศาสตร์ จาก 50 ประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้งระหว่างประเทศ เนื่องจาก IIASA เป็นสถาบันที่มุ่งขับเคลื่อนการดำเนินงาน Vienna Science Diplomacy ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย IIASA มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และหน่วยงานด้านการรับมือกับความเสี่ยงและภัยพิบัติ รวมทั้งสิ้น 10 แห่ง และเชิญชวนให้ สศช. เป็นผู้แทนประเทศไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าเป็นสมาชิก
ทั้งนี้ แม้ประเทศไทยยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก IIASA แต่ก็ได้พัฒนางานวิจัยหลายชิ้นที่เกี่ยวกับประเทศไทย อาทิ 1) การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวชี้วัดด้านกายภาพ (physical measures) กับข้อจำกัดในการทำกิจกรรม (functional limitation) ของผู้สูงอายุในไทย 2) ความสามารถในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ กรณีศึกษาพื้นที่จังหวัดพังงาซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิ โดยผลการศึกษาชี้ว่าความสัมพันธ์ของระดับการศึกษาส่งผลโดยตรงต่อการป้องกันและเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติ และ 3) มลพิษกับต้นทุนทางสุขภาพ (air pollution and health cost) นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Young Scientist Summer Program ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับปริญญาเอกเข้ามาร่วมทำงานวิจัยกับสถาบันด้วย
นางสาววรวรรณฯ ชื่นชมการดำเนินงานของ IIASA และแลกเปลี่ยนถึงการศึกษาวิจัยเชิงนโยบายของ สศช. ในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเสมอภาคทางสังคม อาทิ การพัฒนาดัชนีความยากจนหลากหลายมิติสำหรับผู้สูงอายุ ร่วมกับ Oxford Poverty & Human Development Initiative (OPHI) การศึกษาช่องว่างและปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาทุนมนุษย์ของไทยร่วมกับยูนิเซฟ โดยใช้แนวคิด Human Capital Index ของธนาคารโลก เป็นฐานการต่อยอดการทบทวนวรรณกรรม และการศึกษาวิจัย การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตในสังคมไทย และ แนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมภายใต้การเป็นสังคมสูงวัยของประเทศไทย (Siver Economy) ทั้งนี้ สศซ. ยินดีที่จะได้มีแนวทางในการทำงานร่วมกันกับ IIASA ทั้งด้านการศึกษาวิจัย การจัดส่งบุคลากรเข้าร่วมการวิจัยระยะสั้น และยินดีที่จะสนับสนุนการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคต่อไป
ข่าว : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคม
|