ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์จัดประชุมนำเสนอผลการศึกษา ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม พร้อมเปิดตัวแพลตฟอร์ม TISEP
วันที่ 5 ต.ค. 2566 (จำนวนผู้เข้าชม  231)
          สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัทไรซ์ อิมแพค จำกัด นำเสนอ (ร่าง) ผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความเห็นต่อผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย พร้อมทั้งเปิดตัวแพลตฟอร์ม Thailand Integrated Social Ecosystem Platform (TISEP) ให้เป็นพื้นที่บูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ในระบบนิเวศฯ เพื่อเชื่อมโยงและขับเคลื่อนการพัฒนาจากระดับพื้นที่ไปสู่สังคมแห่งโอกาสและเป็นธรรม

          เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมนำเสนอผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม สศช. ผู้แทนหน่วยงานระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคชุมชนและภาคประชาสังคม รวมประมาณ 200 คน

          โดยรองเลขาธิการฯ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการศึกษา"ระบบนิเวศ”ที่จะนำไปสู่สังคมเสมอภาคและเท่าเทียม เนื่องจากสภาพสังคมปัจจุบันที่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงถึงกัน จึงต้องการความเข้าใจพลวัตของระบบที่ปรับตัวเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง การมีอยู่ของทุนและทรัพยากรดั้งเดิม โดยมีตัวอย่างจากในและต่างประเทศที่มีการนำระบบนิเวศมาประยุกต์ใช้ในฐานะที่เป็นนวัตกรรมเชิงนโยบาย อาทิ ในด้านอุตสาหกรรม ด้านธุรกิจ ด้านการสร้างองค์ความรู้ และด้านการเชื่อมร้อยเครือข่ายผู้ประกอบการผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนประเทศให้ไปสู่การเป็นสังคมเสมอภาคและเท่าเทียม จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาระดับต่าง ๆ มาถึงการขับเคลื่อนจริงในระดับพื้นที่ล้วนต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันจากหลายภาคส่วนในระบบนิเวศฯ ได้แก่ หน่วยงานราชการส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น ท้องที่ องค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน และสถาบันการศึกษา ซึ่งมีต้นทุนและทรัพยากรที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เพื่อนำมาสู่การส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ปฏิบัติการร่วมกัน (Action Space) ให้สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงาน
ได้อย่างเหมาะสมบนฐานทรัพยากรที่ตนเองมี ภายใต้กลไกเชื่อมโยงการพัฒนาตั้งแต่ระดับผู้ได้รับประโยชน์หรือ Microsystem มาถึงระดับมหภาคหรือ Macrosystem เพื่อมากำหนดเป็นนโยบายของประเทศ 

          การนำเสนอผลการศึกษาในช่วงเช้า เป็นการฉายภาพองค์ประกอบและบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของระบบนิเวศฯ ดำเนินรายการโดย ดร.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เริ่มต้นการนำเสนอด้วย "ระบบนิเวศของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก” โดย อาจารย์ ดร.ศิญาณี หิรัญสาลี วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นรูปธรรมการขับเคลื่อนระบบนิเวศในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อสังคม/เศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ (Social Solidarity Economy) ที่นำมาสู่การบรรลุเป้าหมายให้ชุมชน/กลุ่มประชากรผู้มีรายได้น้อยมีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเอง โดยบทบาทที่ควรเพิ่มในระบบนิเวศให้มากขึ้น ได้แก่ ด้านการรวบรวมสถิติข้อมูลเพื่อติดตามประเมินผล เพื่อนำมาสู่การออกกฎระเบียบสนับสนุนที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ อันจะส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมและสร้างการตระหนักรู้ต่อคุณค่าของเศรษฐกิจในท้องถิ่น/เศรษฐกิจเพื่อสังคมให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนทักษะและองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง โดยกรณีศึกษาต่างประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร รัฐบาลให้การสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การเก็บข้อมูลประกอบการวางนโยบาย และสร้างค่านิยมการสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นหรือกิจการเพื่อสังคมอย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับ  "ระบบนิเวศของการสร้างหลักประกันทางสังคม” อาจารย์ ดร.ศิญาณีฯ ฉายภาพให้เห็นบทบาทที่ควรเพิ่มผู้ดำเนินการ คือ การออกกฎหมาย/กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การสร้างระบบร้องทุกข์และการอุทธรณ์ (Feedback) ที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการประเมินและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน ซึ่งภาคเอกชนและภาควิชาการมีบทบาทร่วมขับเคลื่อนไม่มากนัก เมื่อพิจารณาร่วมกับกรณีศึกษาในพื้นที่ และผลการระดมความเห็นจากห้องปฏิบัติการทางสังคม พบว่ายังมีช่องว่างสำคัญด้านการมีกฎหมาย นโยบาย และมาตรการที่สอดคล้องต่อการสร้างหลักประกันทางสังคม การมีระบบงบประมาณเพื่อสร้างหลักประกันทางสังคมที่ยั่งยืน และระบบบริหารจัดการภาครัฐในการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่มีประสิทธิภาพ

          ลำดับถัดมา  "ระบบนิเวศของการเสริมสร้างพลังทางสังคม” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พบสุข ช่ำชอง สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้กรอบการวิเคราะห์ 4Ps (Policy & Governance / Pre-conditions / Platform / Players) ฉายภาพรูปแบบการเกิดพลังทางสังคมของประเทศไทยแบบต่าง ๆ โดยมีข้อค้นพบสำคัญคือ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากหรือการสร้างหลักประกันทางสังคมที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่นั้น ต้องมีกระบวนการสร้างพลังทางสังคมควบคู่ไปด้วยเป็นเงื่อนไขสำคัญของความเข้มแข็ง และควรส่งเสริมบทบาทให้เกิด "ผู้เชื่อมระบบนิเวศเชิงนโยบาย (Policy Ecosystemizer)” ทำหน้าที่เชื่อมร้อย ระดมทรัพยากร และประสานการทำงานของผู้ดำเนินบทบาทต่าง ๆ ในพื้นที่เพื่อสร้างรูปธรรมการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งหน่วยงานที่มีศักยภาพทางโครงสร้างและทรัพยากรที่จะยกระดับเป็นผู้เชื่อมร้อยระบบนิเวศได้ อาทิ กลุ่มองค์การมหาชนต่าง ๆ ภายใต้กำกับของรัฐ หน่วยวิจัยในสถาบันการศึกษา หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกลุ่มบริษัทพัฒนาเมือง 

          ต่อมาเป็นการนำเสนอ "ภาพรวมของระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพงษ์ บุษบงก์ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้กรอบ 4Ps วิเคราะห์ตัวอย่างระบบนิเวศในต่างประเทศ ได้แก่ สวีเดน สิงคโปร์ อังกฤษ เกาหลีใต้ และไต้หวัน พบว่าเงื่อนไขการดำเนินนโยบาย (Policy & Governance / Pre-conditions) ที่เอื้อต่อการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่สำคัญ ได้แก่ การผูกสิทธิเข้าถึงสวัสดิการไว้กับฐานข้อมูลดิจิทัลและอุปกรณ์ดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ (Digitalisation) การจัดสวัสดิการให้สอดคล้องกับความต้องการ (Customisation of Welfare) การส่งเสริมวัฒนธรรมทดลองเชิงนโยบาย (Welfare Innovation license to fail) และการต่อยอดทุนในพื้นที่โดยการลงทุนที่เหมาะสม (Marketisation) นอกจากนี้ ในระบบนิเวศควรสนับสนุนพื้นที่ (Platform) ให้ผู้มีบทบาทต่าง ๆ จากภาคส่วนทั้งหลาย ได้แก่ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ ผู้สนับสนุนทรัพยากรและความรู้ และผู้ประสานเชื่อมโยงเครือข่าย ได้เชื่อมโยงและขับเคลื่อนงานร่วมกันในลักษณะปรึกษาหารือ อาทิ สภาพลเมือง และมีพื้นที่สำหรับทดลองนโยบายเชิงปฏิบัติการร่วมกัน อาทิ Social Lab / Policy Lab 

          ในโอกาสนี้ นายสฤษฐิ์ราช ทรัพย์สิน ผู้แทนบริษัทไรซ์ อิมแพค จำกัด ได้นำเสนอต้นแบบของแพลตฟอร์ม Thailand Integrated Social Ecosystem Platform (TISEP) ซึ่งเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลความต้องการและโอกาสการพัฒนาในพื้นที่ สามารถเข้าถึงได้ทาง https://tisep.nesdc.go.th/ โดยมี Core Features ประกอบด้วย (1) แผนที่ชุมชนเข้มแข็งทั้งหมดในประเทศไทย แสดงตำแหน่งชุมชนเข้มแข็งระดับตำบล จากการสนับสนุนของภาคีหน่วยงานที่เป็นผู้เชื่อมระบบนิเวศเชิงนโยบาย อาทิ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (2) พื้นที่ความร่วมมือ สำหรับทุกภาคส่วนได้แสดงโครงการ/การขับเคลื่อนในแต่ละพื้นที่ และจับคู่ความต้องการแลกเปลี่ยนทรัพยากรหรือการสนับสนุนจากหน่วยงาน/องค์กร โดยมีข้อมูลสถานการณ์การพัฒนาของพื้นที่ประกอบการตัดสินใจ อาทิ จำนวนประชากร GPP Per Capita และตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็งของพื้นที่ และ (3) คลังความรู้ เป็นพื้นที่รวบรวมต้นแบบ กรณีศึกษา และองค์ความรู้ที่ได้จากการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ทั้งนี้ สศช. จะรวบรวมความเห็นและประเด็นที่ได้รับจาก Prototype ของแพลตฟอร์มดังกล่าว เพื่อพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มระยะสมบูรณ์ต่อไป

          จากนั้นได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความเห็นเกี่ยวกับการสร้างระบบนิเวศ อาทิ การศึกษามิติของการกระจายอำนาจและถ่ายโอนภารกิจบริการสาธารณะไปยังท้องถิ่น (Localisation) จะช่วยเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับช่องว่างในระบบนิเวศของไทย การใช้ประโยชน์จากดิจิทัล (Digitalisation) โดยส่งเสริมการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อสร้างความโปร่งใสด้านการครอบครองทรัพย์สิน แต่ขณะเดียวกันควรมีทางเลือกสำหรับกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีให้ได้รับโอกาสการพัฒนาด้วยเช่นกัน รวมทั้งเน้นย้ำประเด็นการสร้างทัศนคติที่ยอมรับความล้มเหลวและเรียนรู้จากความล้มเหลว และสร้างพื้นที่แห่งการถกเถียงและมุมมองที่หลากหลาย จะเป็นเงื่อนไขสำคัญของระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทดลองและสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ ควรพัฒนาแพลตฟอร์ม TISEP ให้เป็นแพลตฟอร์มของการเรียนรู้ร่วมกันแบบ Area-based โดยเชื่อมโยงกับสื่อมวลชนท้องถิ่น เพื่อเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่สามารถสื่อสารประเด็นการพัฒนาให้คนทั่วไปได้รับรู้และชื่นชม ซึ่งจะจูงใจให้เกิดการนำเข้าข้อมูลและใช้ประโยชน์แพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง

          การประชุมในช่วงบ่าย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม แลกเปลี่ยนความเห็นต่อข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาระบบนิเวศ โดยห้องที่ 1 ได้รับเกียรติจาก อาจารย์อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ ที่ประชุมได้ร่วมแลกเปลี่ยนต่อข้อเสนอแนะในประเด็น "เศรษฐกิจฐานรากและการสร้างหลักประกันทางสังคม” อาทิ การส่งเสริมการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ การฟื้นฟูระบบสหกรณ์ การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางด้านการเงิน และส่งเสริมความรอบรู้ทางการเงินให้ประชาชนทุกช่วงวัย รวมทั้งการพัฒนาระบบรับฟังเสียงสะท้อน (Feedback Mechanism) ของหน่วยงานภาครัฐ ในส่วนของห้องที่ 2 ได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ ที่ประชุมได้ร่วมแลกเปลี่ยนต่อข้อเสนอแนะในประเด็น "พลังทางสังคมในการเสริมสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม” อาทิ การสร้างตัวชี้วัดร่วมระหว่างหน่วยงาน (Joint KPIs) และการสนับสนุนให้เกิดผู้เล่นที่ดำเนินบทบาท Policy Ecosystemiser การปรับปรุงเครื่องมือประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ อาทิ SEA/EIA/HIA/EHIA ให้เป็นเครื่องมือที่เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมที่มีความหมาย ให้ทุกภาคส่วนได้ออกแบบอนาคตการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน การสร้างกลไกและพื้นที่ที่สนับสนุนการทดลองเชิงนโยบายหรือนวัตกรรมทางสังคม การกระจายอำนาจให้ภาคประชาสังคมร่วมจัดบริการสาธารณะเพื่อเข้าถึงกลุ่มที่ตกหล่น การมีระบบประกันรายได้ขั้นพื้นฐานที่แก้ปัญหา Inclusion Error แทนการพิสูจน์สิทธิของคนจน และแนวทางต่อยอดกองทุนต่าง ๆ ที่มีให้ลงทุนในตลาดทุนที่เหมาะสม เพื่อความยั่งยืนทางการเงินการคลัง

          ผลการศึกษา "ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม” และแพลตฟอร์ม TISEP ที่ สศช. ดำเนินการศึกษาร่วมกับคณะที่ปรึกษานี้ จะเป็นข้อมูลนำเข้าที่สำคัญสำหรับ สศช. นำไปวิเคราะห์ประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคมของประเทศไทยต่อไป

ข่าว : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม
ภาพ : เมฐติญา  วงษ์ภักดี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์