เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 นายเอนก มีมงคล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการสัมมนา "แนวทางการวัดผลลัพธ์การพัฒนาเมือง ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ” ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร และได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ (1) Mr. Srinivasa Popuri, Chief of UN-Habitat Bangkok, Multi-Country Program Office (2) Mr. Robert Ndugwa, Head of Data and Analytics Section, UN-Habitat Nairobi, Kenya และ (3) ดร.วิฑูรย์ อภิสิทธิ์ภูวกุล รองผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้ง นางสาวพรรณิสา นิรัตติวงศกรณ์ Technical Advisor, UN Habitat Bangkok ผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากกองและสำนักต่าง ๆ ใน สศช. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จำนวนประมาณ 100 คน รวมทั้งผู้เข้าร่วมประชุมผ่าน Facebook Live
การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบการติดตามการพัฒนาเมืองของโลก The Global Urban Monitoring Framework (UMF) จัดทำโดย UN Habitat และเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ UMF ในการวัดผลลัพธ์การพัฒนาเมือง ตามเป้าหมายที่ 3 การพัฒนาเมืองให้มีความน่าอยู่อย่างยั่งยืน มีความพร้อมรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบให้ประชาชนทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างทั่วถึง ของ หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1) กรอบการติดตามการพัฒนาเมืองของโลก (The Global Urban Monitoring Framework : UMF) โดย Mr. Robert Ndugwa UMF เป็นกรอบแนวคิดที่มีการปรับประสาน (harmonize) ดัชนีชี้วัดเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันและเครื่องมือต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับกรอบสากลสำหรับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ระดับเมือง รวมทั้งวาระใหม่แห่งการพัฒนาเมือง (New Urban Agenda: NUA)
1.1) ประโยชน์ของ UMF (1) เป็นเครื่องมือของ UN-Habitat ในการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานแผนงานสำคัญ ได้แก่ SDG Cities (2) เป็นกรอบชี้นำการจัดทำรายงานผลการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยสมัครใจในระดับท้องถิ่น (Voluntary Local Reviews: VLR) ซึ่งมีส่วนสนับสนุนข้อมูลต่อการประเมินระดับประเทศ (Common Country Assessment) และ (3) เป็นระบบข้อมูลเชิงสถิติที่ใช้ในการติดตามการพัฒนาเมืองโดยภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษา
1.2) ชุดตัวชี้วัดของ UMF ทั้งหมดประกอบด้วย 77 รายการ ซึ่งจำแนกออกเป็น มิติสาขาการพัฒนา 5 ด้าน และมิติเป้าหมายการพัฒนาเมือง 4 ด้าน (ดูตารางได้จากเอกสารแนบ)
1.3) กระบวนการประยุกต์ใช้ UMF ประกอบด้วย 10 ขั้นตอน ได้แก่ (1) การเริ่มต้นยอมรับ UMF (2) การกำหนดขอบเขตและสุ่มตัวอย่าง (3) การทบทวนตัวชี้วัด UMF และการประยุกต์ใช้กับท้องถิ่น (4) การเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและแหล่งข้อมูล (5) การรวบรวมข้อมูลและการจำแนกข้อมูล (6) การกำหนดมาตรฐาน การให้น้ำหนักและการจัดทำดัชนี (7) การวิเคราะห์และการแปลผล (8) การตรวจสอบความถูกต้อง (9) การหารือในเชิงนโยบาย และ (10) ชุดข้อมูลเพื่อการทบทวนความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง
2) การพัฒนากรุงเทพมหานครสู่เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดย ดร.วิฑูรย์ อภิสิทธิ์ภูวกุล นำเสนอแนวคิดในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ 5 ประการ ได้แก่ (1) ผลักดันโครงการขนาดใหญ่ เชื่อมโยงการพัฒนาเส้นเลือดฝอย (2) เปลี่ยนวิธีการทำงานโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (3) เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยใช้เทคโนโลยี (4) สร้างความโปร่งใสในการทำงาน และ (5) ร่วมมือกับเครือข่ายทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเมือง โดยได้กำหนดตัวชี้วัดเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนของกรุงเทพมหานคร ที่สะท้อนนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์) "9 ด้าน 9 ดี” ประกอบด้วย (1) เดินทางดี (2) ปลอดภัยดี (3) โปร่งใสดี (4) สิ่งแวดล้อมดี (5) สุขภาพดี (6) เรียนดี (7) เศรษฐกิจดี (8) สังคมดี (9) บริหารจัดการดี ทั้งนี้ ชุดตัวชี้วัดของ UMF หลายรายการมีความสอดคล้องกับ ชุดตัวชี้วัด 9 ด้าน 9 ดี เช่น การจัดการขยะโดยมีประชาชนและผู้ประกอบการร่วมโครงการแยกขยะมากกว่า 6,400 ราย การเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกต้นไม้ 400,000 ต้น การตรวจคุณภาพอากาศโดยการตรวจวัดปริมาณฝุ่นในสถานประกอบการ จำนวน 9,291 แห่ง เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดตามแผนปฏิบัติราชการ และนำเสนอใน OPEN BANGKOK ซึ่งเป็นพื้นที่สร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนากรุงเทพฯ แบบมีส่วนร่วม โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ
การสัมมนาครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างความเข้าใจใน UMF แก่เจ้าหน้าที่ สศช. และผู้เข้าร่วมสัมมนา ทั้งนี้ สศช. จะรวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมสัมมนา เพื่อประกอบการจัดทำแนวทางการวัดผลลัพธ์การพัฒนาเมือง ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ต่อไป
-------------------------
กองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
16 สิงหาคม 2566 |