ข่าวสาร/กิจกรรม
|
การติดตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ ครั้งที่ 4 ภาคตะวันออก ณ จังหวัดสระแก้วและจังหวัดฉะเชิงเทรา
วันที่ 5 ส.ค. 2566 (จำนวนผู้เข้าชม 66)
|
เมื่อวันที่ 3 - 4 สิงหาคม 2566 ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานอนุกรรมการติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก และอนุกรรมการฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายวันชัย สุทธะนันท์ นายสมสุข ศรีสถิตย์วัฒนา นางวัชรี สงวนศักดิ์โยธิน และนายเอนก มีมงคล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สายงานพัฒนาภาค สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ลงพื้นที่จังหวัดสระแก้วและฉะเชิงเทรา มี นายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว นางสาวฉัตรประอร นิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และคณะให้การต้อนรับในพื้นที่ โดยมีการประชุมหารือและรับฟังผลการดำเนินงานโครงการสำคัญที่สนับสนุนการพัฒนาในระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก รวม 2 โครงการ ประกอบด้วย
1. โครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรจังหวัดสระแก้ว กิจกรรมหลักส่งเสริมเกษตรผสมผสานในพื้นที่พัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดสระแก้ว - ปราจีนบุรี ตามพระราชดำริ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยจังหวัดสระแก้วร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้วเป็นหน่วยดำเนินการ มุ่งเน้นส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรมีความรู้เกี่ยวกับเกษตรผสมผสาน เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการทำการเกษตรและให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยคณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นและมีข้อสังเกตดังนี้ โครงการดังกล่าวสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และเพื่อให้โครงการเกิดความยั่งยืน ควรมีการวางแผนการผลิตให้เกิดความต่อเนื่องและตรงกับความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งนำงานวิจัยมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต โดยการบูรณาการร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่
2. โครงการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ปลอดภัยสูง และได้มาตรฐานสากล กิจกรรมหลักการพัฒนาระบบบริหารจัดการแปลงเกษตรที่เหมาะสมโดยระบบอัจฉริยะ (Intelligent Farm System) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ดำเนินการโดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดฉะเชิงเทรา และสำนักงานประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการด้านเกษตร เพื่อลดต้นทุนการผลิตและการจ้างแรงงาน ตลอดจนเป็นการเพิ่มคุณภาพผลผลิต โดยคณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นและมีข้อสังเกตดังนี้ โครงการดังกล่าวสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร รวมทั้งลดเวลาในการทำการเกษตร อย่างไรก็ตาม เพื่อให้โครงการเกิดความยั่งยืน ควรออกแบบเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับเกษตรกรในแต่ละกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่มีความพร้อมสูง กลุ่มระดับกลาง และกลุ่มฐานราก รวมทั้งวิเคราะห์ความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรทั้งต้นทุนในการดำเนินการ และรายได้ที่แท้จริงที่คาดว่าจะได้รับ เพื่อสร้างความคุ้มค่าในการลงทุนและสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นต่อไป |