ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์เปิดเวที “ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประชากร ภายใต้ทิศทางการพัฒนาของแผนฯ 13” ณ จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ 10 ก.พ. 2566 (จำนวนผู้เข้าชม  0)
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเวที "ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประชากรภายใต้ทิศทางการพัฒนาของแผนฯ 13” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 แผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว และแผนพัฒนาภาคเหนือ รวมทั้งเพื่อระดมความคิดเห็นในการขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับพื้นที่ และเป็นการสร้างภาคีเครือข่ายในการประสานการขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกับภาคีเครือข่ายการพัฒนาฯ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา วุฒิอาสาธนาคารสมอง และชุมชนท้องถิ่น เพื่อเป็นการแปลงแผนการพัฒนาไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่  

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เปิดเวทีนำเสนอและระดมความคิดเห็นการขับเคลื่อนงานพัฒนาพื้นที่/ชุมชนที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และแผนพัฒนาระดับต่าง ๆ ในการนำไปสู่การสร้างศักยภาพคนในชุมชน และเพิ่มขีดความสามารถชุมชนให้มีความเข้มแข็งในการจัดการตนเอง ณ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซต์ เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ โดยนางสาววรวรรณ  พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำเสนอ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) แผนพัฒนาประชากรฯ (พ.ศ. 2565 2580) และประเด็นการขับเคลื่อนที่สำคัญในภาคเหนือ” และนายโสภณ  แท่งเพ็ชร์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำเสนอ "ประเด็นและแนวทางการพัฒนาภาคเหนือ พ.ศ.2566-2570” โดยผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน เครือข่ายภาคประชาสังคม และชุมชน จำนวนประมาณ 130 คน  

โดยในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้นำเสนอหมุดหมายการพัฒนาใน 4 มิติ ประกอบด้วย (1) มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน หมุดหมายที่ 3 ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 5 ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค หมุดหมายที่ 6 ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน (2) มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม  (3) มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ หมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (4) มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และหมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน

ส่วนแผนพัฒนาประชากรฯ เป็นแผนระดับ 3 ที่ถ่ายระดับจากแผนฯ 13 มีกรอบแนวทางการพัฒนาประชากรที่ให้ความสำคัญกับ "การเกิดดี อยู่ดี และแก่ดี” ผ่านยุทธศาสตร์การพัฒนา 6 ด้าน คือ (1) การสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพและพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการมีและเลี้ยงบุตร (2) การพัฒนายกระดับผลิตภาพประชากร (3) การยกระดับความมั่นคงทางการเงิน (4) การสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อลดการตายก่อนวัยอันควร และมีระบบดูแลระยะยาวและช่วงท้ายชีวิต (5) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต อย่างมีคุณภาพกับทุกกลุ่มวัย และ (6) การบริหารจัดการด้านการย้ายถิ่น 

ขณะที่แนวทางการพัฒนาภาคเหนือ พ.ศ. 2566-2570 ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาของภาคเหนือ โดยให้ความสำคัญสู่การเป็น "ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ” ตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาใน 4 มิติ ได้แก่ (1) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative) พัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง สร้างระบบนิเวศเมือง สามารถพัฒนาสู่การเป็นสินค้าและบริการสร้างสรรค์ (2) สานสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ (Connect) สร้างโอกาสในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในประเทศกับอนุภูมิภาค (3) วิถีชีวิตยั่งยืน พัฒนาตามแนววิถีใหม่บนฐานการเติบโตอย่างยั่งยืน (Clean) และ (4) สุขภาวะดี ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องกับการดูแลผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน (Care) 

นอกจากนี้ ยังนำเสนอตัวอย่างการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ สู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ของผู้แทนภาคีเครือข่ายที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่นอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ "ระบบการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น” โดย นายก อบต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ "สองแควโมเดล : พื้นที่ต้นแบบบูรณาการรับมือสังคมผู้สูงอายุ” โดย นายกเทศมนตรีตำบลสองแคว อ.ดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ และ "วิสาหกิจชุมชน แม่ทาออร์แกนิค” โดย ผู้แทน Young Smart Farmer กลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนแม่ทา จ.เชียงใหม่ จากนั้นเป็นการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมความเห็นประเด็นการขับเคลื่อนในภาคเหนือ โดยใช้กระบวนการ สามเหลี่ยมปัจจัยกำหนดประเด็น และ 5W1H คือ What? Who? Where? When? Why? How?  ใน 4 ประเด็นหลัก คือ (1) การพัฒนาระบบ Long Term Care (2) การส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล (3) การส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่ เพื่อรองรับแรงงานคืนถิ่น และ (4) การจ้างงานผู้สูงอายุ โดยมีผู้แทนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นทีมสรุปประเด็นร่วมกับทีมของ สศช. 

ทั้งนี้ ประเด็นที่ได้มาจากการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวทางการพัฒนาตามแผนพัฒนาประชากรระยะยาว และการระดมความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีบทบาทสำคัญในการนำไปสู่การขับเคลื่อนแผนอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ

ข่าว/ภาพ : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์