ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 14 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (The 14th IMT-GT Summit)
วันที่ 11 พ.ย. 2565 (จำนวนผู้เข้าชม  7)
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 14 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (The 14th IMT-GT Summit) ณ โรงแรมสกคา พนมเปญ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมี นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ทัน ซรี อาซาร อาซิซาน ฮารุน ผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พร้อมด้วย ดาโต๊ะ ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน นายมาซัตสึกะ อะซากาวา ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย และรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศสมาชิกแผนงาน IMT-GT เข้าร่วมการประชุม โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายไทย การประชุมสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. ผู้นำแผนงาน IMT-GT ได้ร่วมกันรับรองแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 14 แผนงาน IMT-GT (Joint Statement of the 14th IMT-GT Summit) โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินงานในระดับอนุภูมิภาค เพื่อสนับสนุนความพยายามของแต่ละประเทศในการบรรเทาผลกระทบของโรคโควิด-19 เร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของแผนงานฯ ในระยะที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผู้นำแผนงานฯ ยังได้ร่วมกันรับรองแผนดำเนินงานระยะห้าปี พ.ศ. 2565 – 2569 (Implementation Blueprint: IB 2022 – 2026) ซึ่งเป็นกรอบยุทธศาสตร์การดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายภายใต้วิสัยทัศน์ พ.ศ. 2579 ของแผนงาน IMT-GT

2. การดำเนินโครงการภายใต้แผนงานความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity Projects: PCPs) ของอนุภูมิภาคฯ ในรอบปีที่ผ่านมามีมูลค่ากว่า 5.7 หมื่นล้านเหรียญ สรอ. (ประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท) โดยในส่วนของไทยมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการและมีความคืบหน้า อาทิ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส – เมืองรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน  โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งใหม่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส - เมืองเปิงกาลันกุโบร์ รัฐกลันตัน โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ จ.สงขลา - ด่านศุลกากรบูกิตกายูฮิตัม โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษเชื่อมโยงหาดใหญ่ - สะเดา และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เชื่อมโยงหาดใหญ่ – ปะดังเบซาร์

3. ที่ประชุมฯ ได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานในสาขาความร่วมมือต่าง ๆ อาทิ (1) การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) โครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง โดยได้จัดตั้งเมืองยาง (Rubber City) จำนวน 3 เมือง ซึ่งมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.6 พันล้านเหรียญ สรอ. โดยของไทย ได้แก่ จ.สงขลา (2) การดำเนินโครงการด้านการท่องเที่ยว เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวชาวมุสลิม และการจัดทำชุดเครื่องมือพัฒนาแผนการสื่อสารการตลาดท่องเที่ยว (3) การส่งเสริมการแปรรูปปาล์มน้ำมันในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (4) การเสริมสร้างศักยภาพและทักษะทางวิชาชีพให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน (5) การเสริมสร้างศักยภาพที่เกี่ยวข้องกับการรับรองและการลงทะเบียนมาตรฐานผลิตภัณฑ์ฮาลาล และ (6) การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน (SUDF) ของแผนงาน IMT-GT

4. นอกจากนี้ ผู้นำแผนงานฯ ยังได้ให้ความเห็นชอบกับการเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี แผนงาน IMT-GT ในปี 2566 และกิจกรรมต่าง ๆ ในปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT พ.ศ. 2566 – 2568 (IMT-GT Visit Year 2023 – 2025) โดยมอบหมายให้ทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินงาน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและพลิกฟื้นเศรษฐกิจของ IMT-GT ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

ในโอกาสเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยได้ให้ข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมฯ 6 ประเด็น ประกอบด้วย

1. เร่งรัดการดำเนินโครงการสำคัญด้านการท่องเที่ยว ให้สอดคล้องกับวาระการเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี แผนงาน IMT-GT ในปี 2566 รวมทั้งจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ต่าง ๆ ในปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT พ.ศ. 2566 – 2568 เพื่อสนับสนุนให้อนุภูมิภาคฯ เป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

2. เร่งรัดการพัฒนาโครงการเชื่อมโยงทางกายภาพ (PCPs) เพื่อความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อ อาทิ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ทั้ง 2 แห่ง (2) โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ของไทยกับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย และ (3) โครงการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานระหว่างสตูลและเปอร์ลิส

3. เร่งรัดการดำเนินโครงการภายใต้ MoU โครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยางใน IMT-GT ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่คุณค่าอุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งจำเป็นต้องเร่งดำเนินการในระยะเร่งด่วน ดังนี้ (1) โครงการเสริมสร้างศักยภาพเมืองยาง (2) ความร่วมมือด้านงานวิจัยและผลิตภัณฑ์ยาง นวัตกรรม และเทคโนโลยี และ (3) ความร่วมมือด้านมาตรฐานและการรับรองผลิตภัณฑ์ยาง ตลอดจนความร่วมมือด้านธุรกิจ

4. พัฒนาโครงการภายใต้ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสอดรับกับ BCG Model ผ่านการระดมทุนในหลายรูปแบบ อาทิ พันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของไทย สนับสนุน (1) พัฒนาโครงการภายใต้ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม โครงการเมืองสีเขียว และโครงการตามแผนการลงทุนกรอบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับ BCG Model และ (2) การระดมทุนเพื่อการพัฒนา อาทิ พันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของกระทรวงการคลัง ฯลฯ

5. เสริมสร้างความเข้มแข็งของสภาธุรกิจ IMT-GT เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมสนับสนุนให้เร่งปรับกลไกการดำเนินงานเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับคณะทำงานในสาขาความร่วมมือต่าง ๆ และ UNINET ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6. สนับสนุนการเชื่อมโยงแผนงาน IMT-GT กับแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคอื่น ๆ เช่น GMS, BIMEAGA, BIMSTEC และ ACMECS เพื่อให้สามารถเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน มุ่งเน้นการสนับสนุนโครงการความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่ง การเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าระหว่างสินค้าทางการเกษตร อาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาล และการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่เพื่อเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) ในพื้นที่

การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT กำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย 

************************************

ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 
ภาพ : สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี







สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์