เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมเจ้าหน้าที่ในสายงานสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมรับฟังและหารือโมเดลการอบรมและการจ้างงานแบบครบวงจรขององค์กร ‘Generation’ (องค์กรไม่แสวงหากำไร) ซึ่งริเริ่มโดยบริษัท McKinsey & Company ตั้งแต่ปี 2558 ณ ห้องสุนทร หงส์ลดารมภ์ สศช. โดยองค์กรเจเนอเรชั่นทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้หางานและนายจ้างอย่างเป็นระบบและครบวงจร ตั้งแต่การวิเคราะห์ตลาดงานจากบริษัทที่เป็นพาร์ทเนอร์ การจัดโครงการฝึกอบรมทักษะ (Bootcamp)ไปจนถึงการติดตามผลการดำเนินงานหลังการฝึกอบรม
องค์กรเจเนอเรชั่นได้ขยายการดำเนินงานสู่ประเทศไทยเมื่อปี 2564 โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่มุ่งเน้นไปที่ผู้กำลังหางาน ที่ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ มีช่องว่างระหว่างทักษะกับความต้องการของอุตสาหกรรม หรือมีอุปสรรคอันเนื่องมาจากอคติของการจ้างงานเชิงโครงสร้าง อาทิ การจ้างงานผู้หญิงในสายงานเทคโนโลยี
ทั้งนี้ สำหรับองค์กรเจเนอเรชั่นในประเทศไทยมี นางสาวปุณยนุช พัธโนทัย CEO และ นางสาวพิน เกษมศิริ Business Development and Partnership Lead เป็นผู้ดำเนินการหลัก ได้เล่าถึงโมเดลของเจเนอเรชั่นว่ามีหัวใจสำคัญอยู่ที่ (1) ระบบการคัดเลือกผู้สมัครรูปแบบใหม่ ที่ไม่ได้พิจารณาจากวุฒิการศึกษา แต่มุ่งเน้นไปที่ความต้องการทำงาน สภาวะที่พร้อมรับการฝึกอบรม และความเป็นไปได้ในการได้รับการจ้างงานของผู้สมัคร โดยมีการทำ Learner Persona เพื่อจำแนกกลุ่มเป้าหมายย่อย อาทิ กลุ่ม Resilient & Ready ที่เป็นกลุ่มเยาวชนไม่มีงานทำหรือระดับการศึกษาไม่สูงมาก แต่มีแรงจูงใจสูงและต้องการทำงาน กลุ่ม Displaced workers คือผู้ถูกเลิกจ้างแต่มีแรงจูงใจสูงที่อยากกลับเข้ามาทำงาน (2) ระบบการฝึกอบรม ทั้งด้านเทคนิคและ soft skills ที่เข้มข้นและตรงกับความต้องการจ้างงาน โดยมีนายจ้างเข้าร่วมพัฒนาหลักสูตร เพื่อเตรียมความพร้อมในการสมัครงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และ (3) ระบบการติดตามประเมินและการให้คำปรึกษาในช่วงแรกของการทำงานรายบุคคล ผ่าน mentor ที่เป็นอาสาสมัคร นอกจากนี้ ยังมีการใช้ระบบ data analytics ในการคัดเลือกผู้เข้าฝึกอบรม การหาความต้องการของอาชีพต่าง ๆ จากฝั่งนายจ้าง รวมถึงระบบการติดตามและวัดผลการปฏิบัติงานผู้ผ่านการอบรม ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 83 ได้งานภายใน 3 เดือนหลังจากจบโปรแกรม มีรายได้เพิ่มขึ้น 3 – 4 เท่า
สำหรับปี 2565 – 2566 องค์กรเจเนอเรชั่นกำลังนำร่องโมเดลดังกล่าวในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลและสุขภาพ โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ภายใต้โครงการ Reinventing University ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทพาร์ทเนอร์ จำนวน 12 แห่ง มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน จากเป้าหมาย 350 คน โดยในระยะต่อไป เจเนอเรชั่นมุ่งที่จะขยายสาขาอาชีพให้หลากหลายยิ่งขึ้น และเพิ่มกลุ่มเป้าหมายไปถึง 2,000 – 4,000 คน ต่อปี ภายในปี 2568 - 2569 ทั้งนี้ เจเนอเรชั่นจะเป็นผู้ดำเนินโครงการหลักในระยะเริ่มต้น และจะถ่ายทอดองค์ความรู้การบริหารจัดการโครงการที่มีประสิทธิภาพให้แก่สถาบันเป้าหมาย รวมถึงสถาบันอาชีวศึกษา ตลอดจนขยายการระดมทุนจากภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อขยายผลการดำเนินงานตามโมเดลของเจเนอเรชั่นได้อย่างยั่งยืน
การหารือครั้งนี้ รองเลขาธิการฯ ได้เห็นถึงความสำคัญของโมเดลเจเนอเรชั่นที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาประเทศในด้านการช่วยเหลือและพัฒนาประชากรกลุ่มเปราะบางและขาดโอกาสให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ องค์กรเจเนอเรชั่น ควรมีการขยายขอบเขตความร่วมมือกับหลาย ๆ หน่วยงาน เพื่อนำโมเดลนี้ไปขยายผลในกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้รับการพัฒนาศักยภาพ อาทิ กลุ่มแรงงานทั้งในและนอกระบบของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน/กรมการจัดหางาน กลุ่มเด็กในกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อให้ระบบการฝึกอบรมและการจ้างงานของไทยได้มีการพัฒนาอย่างครบวงจรและสามารถสร้างโอกาสให้กับกลุ่มคนเปราะบางได้อย่างแท้จริง |