สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดเวทีระดมความคิดเห็นต่อ"ร่างแผนพัฒนาภาคตะวันออก ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนในพื้นที่ 8 จังหวัด ภาคตะวันออก ประกอบด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน ให้มีสาระครอบคลุมถึงสถานการณ์ ปัญหา และแนวทางการพัฒนาของแผนพัฒนาภาคตะวันออก เพื่อนำข้อคิดเห็นจากการประชุมไปดำเนินการปรับปรุงร่างแผนฯ ให้มีความสมบูรณ์และสามารถตอบสนองความต้องการของพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 นายโสภณ แท่งเพ็ชร์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. เป็นประธานการประชุมระดมความเห็น "ร่างแผนพัฒนาภาคตะวันออก ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570)” ณ โรงแรมเดอะ ไทด์ รีสอร์ท บางแสน จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ผู้แทนส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม ประมาณ 100 คน
ร่างแผนพัฒนาภาคตะวันออก (พ.ศ. 2566 – 2570) เป็นการนำร่างกรอบแผนฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบูรณาการนโยบายการพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 มาดำเนินการเพิ่มเติมสาระสำคัญในรายละเอียดให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งเน้นให้พื้นที่ภาคตะวันออกเป็น "ฐานเศรษฐกิจสีเขียวชั้นนำของอาเซียน ควบคู่กับคุณภาพการดำรงชีวิตของประชาชนที่ดี” โดยมีองค์ประกอบของทิศทางการพัฒนาครอบคลุม 3 มิติการพัฒนาหลัก ประกอบด้วย ด้านการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Economic Prospority) การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน (Social Wellbeing) และการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection) และ 6 ประเด็นการพัฒนาที่ต้องการบรรลุ หรือ "SHAREs” ได้แก่ 1) การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ภาคตะวันออก (S-curve & New S-curve Hub : S) 2) การพัฒนาพื้นที่ให้มีความทันสมัย น่าอยู่ สอดรับกับความต้องการของคนทุกกลุ่ม (High Standard Living Cities : H) 3) การส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและชุมชน (Agro and Community based Tourism : A) 4) การฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน และเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Resilience of Nature : R) 5) การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและเมืองชายแดน เชื่อมโยงเศรษฐกิจและการค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศในเอเชียแปซิฟิก (Economic Linkage :E) และ 6) การผลิตผลไม้คุณภาพสูงมุ่งสู่การเป็น "มหานครผลไม้เมืองร้อนแห่งเอเชีย” และการผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอดภัยที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (Safe Fruit, Food and Herb Cities : S) โดยมีการขับเคลื่อนการพัฒนาผ่าน 6 แนวทางการพัฒนา ประกอบด้วย 1) พัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน 2) พัฒนาการเกษตรคุณภาพให้เชื่อมโยงสู่การผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรปลอดภัย และการให้บริการส่งเสริมสุขภาพ 3) ยกระดับการท่องเที่ยวของภาคตะวันออกสู่การเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวของโลกที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน 4) ยกระดับพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนประเทศกัมพูชาไปสู่การเป็นประตูเชื่อมโยงการค้า การลงทุนที่ทันสมัยกับประเทศเพื่อนบ้าน 5) พัฒนาเมืองและพื้นที่ชนบทให้มีความทันสมัยและน่าอยู่ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่ และ 6) เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มประสิทธิภาพการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ตลอดจนนำเสนอข้อเท็จจริงของพื้นที่ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา อุปสรรค และโอกาส รวมถึงความต้องการของพื้นที่ภาคตะวันออกที่ควรให้ความสำคัญสำหรับการกำหนดนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่
ผลที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ สศช. จะนำความคิดเห็นไปประมวลและปรับปรุงร่างแผนพัฒนาภาคตะวันออก ในระยะ 5 ปี ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ สอดคล้องกับเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาประเทศ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.น.บ.) และคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามขั้นตอนต่อไป เพื่อให้ส่วนราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาในระดับพื้นที่และภาคตะวันออกต่อไป
-------------------------
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
29 กันยายน 2565
|