เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นวิทยากรบรรยาย โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (NESDC KM : Knowledge Sharing Session) หัวข้อ "การจัดทำโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามแนวยุทธศาสตร์ชาติ” ณ ห้องประชุม 511 อาคาร 5 ชั้น 1 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และผ่านระบบ ZOOM Meeting จัดโดยกลุ่มงานพัฒนาบุคลากร สศช.
รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งเป็นไปตามหลักการบริหารงานคุณภาพ (Plan Do Check Act : PDCA) เพื่อให้เกิดกระบวนการ "ตั้งเป้า ปฏิบัติ ตรวจสอบ ปรับปรุง” ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่
1. Plan การวางแผน เป็นการวางแผนที่มีรายละเอียดครอบคลุมทั้งในส่วนของเป้าหมายการดำเนินงาน การกำหนดการประเมินความสำเร็จ แนวทางการดำเนินงาน ภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง และกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ แผนระดับที่ 1 ยุทธศาสตร์ชาติ แผนระดับที่ 2 แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และนโยบายและแผนว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนระดับที่ 3 ได้แก่ แผนปฏิบัติการด้าน... แผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี และแผนปฏิบัติราชการรายปี
2. Do การปฏิบัติ เป็นการนำแผนมาแปลงไปสู่การปฏิบัติตามที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด รวมถึงการดำเนินการต่างๆ ในรูปแบบโครงการ/การดำเนินงานตามที่วางแผนไว้ โดยมุ่งเน้นการแปลงแผนระดับชาติไปสู่การปฏิบัติผ่านการจัดทำแผนระดับที่ 3 และการจัดทำโครงการ/การดำเนินงานบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์
3. Check การตรวจสอบ เป็นการตรวจสอบระหว่างและหลังจากปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ โดยมีกลไก อาทิ คณะกรรมการระดับชาติ ผู้ตรวจราชการ สศช. สำนักงบประมาณ ฯลฯ และระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ในการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล
4. Act การวิเคราะห์ผลการตรวจสอบและประเมินการดำเนินงาน/โครงการ เพื่อนำไปปรับปรุง แก้ไข และพัฒนากระบวนการดำเนินงานหรือยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานให้ดีขึ้น อันนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับขั้นตอนการจัดทำโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย (1) ศึกษาแนวทาง หลักการ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการจัดทำโครงการฯ ตามทิศทางการพัฒนาประเทศ เพื่อให้สามารถจัดทำโครงการ/การดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยทุกโครงการฯ ต้องส่งผลต่อการขับเคลื่อนการบรรลุผลลัพธ์ตามเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยยึดหลักการความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล (Causal Relationship : XYZ) (2) วิเคราะห์เลือกเป้าหมายแผนแม่บทย่อย (Y1) ในการจัดทำโครงการฯ โดยพิจารณาเลือกเป้าหมายแผนแม่บทย่อย (Y1) ที่จำเป็นและเหมาะสมในการจัดทำโครงการ/การดำเนินงาน ซึ่งเลือกจากเป้าหมายแผนแม่บทย่อย (Y1) ทั้งหมดที่หน่วยงานมีความเกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถหารือกับหน่วยงานเจ้าภาพฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนเป้าหมายแผนแม่บทย่อย (Y1) นั้น ๆ (3) วิเคราะห์และเลือกปัจจัยภายใต้องค์ประกอบของห่วงโซ่คุณค่าของประเทศไทย หน่วยงานเจ้าภาพฯ ทั้ง 3 ระดับ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลือกปัจจัยภายใต้องค์ประกอบของห่วงโซ่คุณค่าของประเทศไทย ที่มีความเหมาะสมและจำเป็นในการจัดทำโครงการ/การดำเนินงานมารองรับ โดยพิจารณาจากภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน ช่องว่างการพัฒนา และความซ้ำซ้อนของโครงการ เพื่อจัดทำโครงการ/การดำเนินงานที่สามารถปิดช่องว่างเชิงนโยบาย และยกระดับการพัฒนาของแต่ละเป้าหมายแผนแม่บทย่อย (Y1) ต่อไป (4) การจัดทำร่างข้อเสนอโครงการฯ บนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อให้ส่งผลต่อการขับเคลื่อนการบรรลุผลลัพธ์ตามเป้าหมายแผนแม่บทย่อย (Y1) ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยข้อมูลที่ระบุในร่างข้อเสนอโครงการฯ ต้องมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และ (5) ประเมินคุณภาพและปรับปรุงร่างข้อเสนอโครงการฯ ตามแบบประเมินโครงการฯ และปรับแก้รายละเอียดของร่างข้อเสนอโครงการฯ ให้มีความเป็นไปได้ในการผ่านเกณฑ์การประเมิน รวมถึงพิจารณาความพร้อมของการดำเนินโครงการฯ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการในปีนั้น ๆ ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงบประมาณ
การจัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากร สศช. มีองค์ความรู้และทักษะในการเขียนแผนงาน/โครงการที่มีความชัดเจนและตรงประเด็น บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามแผนแม่บทฯ และยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมทั้งเป็นการพัฒนาและสะสมประสบการณ์เพื่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณา ให้ความเห็น และให้คำปรึกษาหน่วยงานต่าง ๆ ในการเขียนแผนงานโครงการที่มีประสิทธิภาพในอนาคต ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
ข่าว : วันทนีย์ สุขรัตนี
ภาพ : จักรพงศ์ สวภาพมงคล |