ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สศช. จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ การเตรียมการขับเคลื่อน (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) หมุดหมายที่ 1 ”
(จำนวนผู้เข้าชม  107)
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน 2565 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อเตรียมการขับเคลื่อน (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 -2570) หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพมหานคร 

นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการสัมมนาเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งเป็นการถ่ายทอดเป้าหมายหลักในระดับหมุดหมายไปสู่การขับเคลื่อนที่ชัดเจน และเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันที่เอื้อให้เกิดการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วนให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับการตอบรับจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาภาคเกษตรของไทย ซึ่งถือเป็น Change Agent ของการพัฒนาภาคเกษตรไทยในการเข้าร่วมการสัมมนาเป็นอย่างดีในช่วงแรกของการสัมมนาฯ นายนิติ ช่างภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การผลิตและบริการ กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้นำเสนอสาระสำคัญของ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง ซึ่งมุ่งหวังให้ผลลัพธ์ของการพัฒนาระดับหมุดหมายนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบของการผลิตของภาคเกษตรให้เกิดความยั่งยืน และการหลุดพ้นจากความยากจนของเกษตรกรไทย หลังจากนั้น ได้มีการอภิปรายและแสดงความคิดเห็น เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนาสินค้าเกษตรของประเทศไทยให้มีมูลค่าสูง ซึ่งได้รับเกียรติจาก (1) นายนครินทร์ วงศ์ชัย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อริมวัง จังหวัดลำปาง (2) นายชาตรี ยู่กี่ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหนองอ้อ ปลูกและแปรรูปสมุนไพร จังหวัดราชบุรี (3) นายมงคลศิลป์ ลีนะกนิษฐ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวเชิงเกษตร อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา และ (4) นายปุณณะ วงศ์ธนาศิริกุล ผู้จัดการฝ่ายขายแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตร ผู้แทนบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมการอภิปราย โดยมี นายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยสามารถสรุปประเด็นจากการอภิปราย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสินค้าเกษตรของประเทศให้มีมูลค่าสูงได้ ดังนี้

1. ผู้ผลิตหรือเกษตรกร ต้องเข้าใจบริบทของกระแสความนิยมของผู้บริโภคและทิศทางตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และแสวงหาธุรกิจที่มีความสอดคล้องกับความต้องการตลาด ควบคู่กับความรู้ความเข้าใจ ความชำนาญ และศักยภาพของการทำธุรกิจเกษตรของตนเอง 

2. ควรมีการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้ครบห่วงโซ่อุปทาน และต่อยอดไปยังธุรกิจอื่น พร้อมทั้งควรมีการเชื่อมโยงความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม ในการพัฒนาสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงด้วย 

3. การรวมกลุ่มของเกษตรกรในการพัฒนาสินค้าและบริการเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการทำการเกษตรและการพัฒนาธุรกิจ และร่วมกันผลักดันให้เกิดการสนับสนุนปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาภาคเกษตรจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ การรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการ การจดสิทธิบัตร การปรับปรุงพันธุ์พืชสมัยใหม่โดยเทคโนโลยีขั้นสูง แหล่งเงินทุน และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง

4. แปลงสาธิตการทำการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรในพื้นที่ มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต อีกทั้ง เจ้าของหรือผู้ดูแลแปลงสาธิต ยังสามารถที่จะให้ความรู้ ดูแล และแลกเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรที่เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตภาคเกษตร ไม่กลับไปทำการเกษตรแบบดั้งเดิม 

5. ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นสิ่งจำเป็นในการขับเคลื่อน (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 1 เพื่อให้เกิดการยกระดับภาคการเกษตรของไทยตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป  

ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน
ภาพ : จักรพงศ์ สวภาพมงคล

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์