เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 เวลา 15.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงเป็นประธานและทรงปาฐกถาพิเศษในงาน "20 ปี ธนาคารสมอง พลังอาสาร่วมสร้างสังคมที่เท่าเทียม” และทอดพระเนตรการจัดนิทรรศการเสมือนจริง (Virtual Exhibition) แสดงผลการดำเนินงานในรอบ 20 ปีของธนาคารสมอง ผ่านระบบซูม (Zoom) เฟซบุ๊กไลฟ์ (Facebook Live) และยูทูบ (Youtube) ของสภาพัฒน์และมูลนิธิพัฒนาไท จัดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และมูลนิธิพัฒนาไท (มพท.)
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปาฐกถาพิเศษความว่า "...ธนาคารสมองก่อเกิดมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ ด้วยทรงเล็งเห็นความสำคัญของการให้ผู้สูงอายุที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ ได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง จึงได้กราบบังคมทูลปรึกษาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่าน่าจะรวบรวมบุคคลกลุ่มนี้ให้มาช่วยกันพิจารณาปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ ช่วยกันดูแลบ้านเมือง เพราะทุกคนที่เกษียณอายุแล้ว เป็นคนที่มีคุณค่าสูง การช่วยเหลือประชาชนและชาติบ้านเมืองนี้ เป็นหลักการทรงงานของทั้งสองพระองค์มาตลอดตั้งแต่ข้าพเจ้าจำความได้
ตามรายงานของท่านเลขาธิการฯ ขณะนี้มีวุฒิอาสาธนาคารสมองที่อาสามาช่วยประเทศชาติถึง ๕,๘๙๗ คน และมีโครงการพัฒนาที่วุฒิอาสาฯ ดำเนินการกว่า ๑๙,๐๐๐ โครงการ เห็นได้ว่าได้สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างมาก หากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท คงจะทรงปลาบปลื้มปีติ นับเป็นของขวัญชิ้นสำคัญในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีนี้
ประเทศไทยขณะนี้กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย วุฒิอาสาธนาคารสมองทุกท่านก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้ ทุกท่านเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ทางปัญญา ที่สามารถถ่ายทอดข้อมูลความรู้อันเป็นประโยชน์ ช่วยเหลือ เป็นที่ปรึกษา เป็นกำลังสำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม การอนุรักษ์ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมประเพณีได้เป็นอย่างดี
แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ที่กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า "ผู้สูงวัยเป็นหลักชัยของสังคม โดยประชากรผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี คือสุขภาพดีทั้งกายและจิต มีครอบครัวอบอุ่น มีสังคมที่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม มีหลักประกันที่มั่นคง ได้รับสวัสดิการและบริการที่เหมาะสม อยู่อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ มีส่วนร่วมและเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของครอบครัว ชุมชน และมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง” ชี้ให้เห็นถึงการดูแลผู้สูงอายุในเชิงรุก ทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ ปัจจัยด้านครอบครัว สังคม ชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีความผาสุกได้
ผู้สูงอายุวัยต้น หรืออายุ ๖๐-๖๙ ปี และผู้สูงอายุวัยกลาง หรืออายุ ๗๐-๗๙ ปี ยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น ยังสามารถใช้พลัง ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ชีวิต ประสบการณ์การทำงาน สร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองและสังคม เช่นเดียวกับวุฒิอาสาฯ ทุกท่าน ที่มีจิตใจและความพร้อมที่จะช่วยเหลือชุมชน สังคม และประเทศชาติ
การเป็นผู้สูงวัยอย่างมีพลัง หรือมีศักยภาพ (Active Ageing) คือการเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ สิ่งที่บ่งบอกความเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ ได้แก่ การมีสุขภาวะที่ดี ทั้งทางร่างกาย จิตใจ ปัญญา สังคม และจิตวิญญาณ ดูแลตนเองได้ พึงพอใจในชีวิตตนเอง การมีส่วนร่วมในสังคม มีการพัฒนาความสามารถทางสังคม ทำคุณประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นและสังคมได้ตามศักยภาพของตน และการมีหลักประกันที่มั่นคง คือ พึ่งตนเองได้พอควรเรื่องการยังชีพ หรือมีการพัฒนาความสามารถทางเศรษฐกิจ
นอกจากเรื่องคุณภาพ ยังมีเรื่องคุณค่า จะเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณค่า สิ่งสำคัญคือต้องมองเห็นคุณค่าของตนเอง รู้จักปรับเปลี่ยนตัวเองทั้งในแง่มุมมองและทัศนคติ การเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณค่าควรประกอบด้วย ๔ ดี คือ คิดดี ปัญญาดี สุขภาพดี สังคมดี
คิดดี คือ ต้องเปลี่ยนทัศนคติการมองตนเอง จากที่คิดว่าเมื่อสูงวัยแล้วต้องพึ่งพิงคนรอบข้าง ไร้ค่า เป็นการมองสิ่งดีที่มีในตนเอง สร้างความเชื่อมั่นว่าตนยังสามารถเป็นผู้ให้สิ่งที่ดีแก่สังคมได้ด้วยศักยภาพที่มีอยู่
ปัญญาดี เป็นผู้มีโลกทัศน์เปิดกว้าง ปรับเปลี่ยนมุมมองและเปิดใจให้กว้าง กล้าที่จะเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รู้เท่าทันโลก เท่าทันเทคโนโลยี
สุขภาพดี ต้องให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ เพื่อป้องกันปัญหาโรคภัยรุมเร้า
สังคมดี ไม่ปิดกั้นตัวเองจากสังคม ใช้สิ่งดีที่มีในตนทำประโยชน์ให้สังคม สังคมก็ต้องเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วม เพราะผู้สูงอายุหลายท่านเป็นผู้มีภูมิความรู้สูง ความคิดดี หลายท่านเคยทำงานรับใช้ประเทศชาติด้วยดีมาตลอด
ท้ายที่สุดขอสรุปว่า ผู้สูงอายุ รวมทั้งวุฒิอาสาธนาคารสมองทุกท่าน สามารถทำตนเองให้เป็นผู้มีศักยภาพ มีคุณภาพ มีคุณค่า ความรู้เป็นสิ่งที่เพิ่มเติมได้ ผู้สูงวัยหลังเกษียณจะมีเวลามากขึ้น สามารถหาความรู้ทุกด้านได้จากสื่อต่าง ๆ ที่มีในปัจจุบัน และต้องรู้จักพัฒนาการใช้ชีวิต เพื่อจะอยู่ได้อย่างมีสุขภาวะในทุกด้าน ได้แก่
ด้านร่างกาย เรียนรู้วิธีดูแลสุขภาพ เน้นการป้องกันมากกว่ารักษา ออกกำลังกายพอควร รับประทานอาหารเหมาะกับวัยตามหลักโภชนาการ ระวังตนเองเรื่องอุบัติเหตุ
ด้านจิตใจและอารมณ์ มองโลกในแง่ดี อารมณ์ดี เป็นมิตร ทำกิจกรรมที่ทำให้มีความสุข ภูมิใจในตนเอง
ด้านสังคม เปิดใจให้กว้าง เข้าร่วมกิจกรรมสังคมหรือบำเพ็ญประโยชน์ตามกำลัง ทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดี สนใจการเปลี่ยนแปลงในสังคม พบปะมิตรสหายบ้างในบางโอกาส
ด้านสติปัญญาและการรู้คิด กระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเอง สนใจข่าวสารและสถานการณ์ต่าง ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อ่านหนังสือ หัดใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จำเป็น
ด้านจิตวิญญาณ ทำจิตใจให้สงบเยือกเย็น อาจใช้คำสอนทางศาสนาเป็นแนวทาง รู้จักควบคุมและจัดการกับสภาวะอารมณ์ ปล่อยวาง ปรับตัว ยอมรับสภาพความเป็นจริง
ข้าพเจ้าขอยกย่องและขอขอบคุณวุฒิอาสาธนาคารสมองทุกท่าน ที่มีความตั้งใจดี เสียสละ เพื่อจะช่วยเหลือกิจการของชาติบ้านเมืองด้วยความเต็มใจ ทั้งขออวยพรให้ทุกท่านมีสุขภาพอนามัยดี มีพลังกายพลังใจดีเช่นนี้ไปอีกนานเท่านาน...”
จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรนิทรรศการเสมือนจริงแสดงผลการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาธนาคารสมองตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ประกอบ 5 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 "โซนต้อนรับ” โซน 2 "จากปรัชญาของแผ่นดิน” โซน 3 "สู่การกำเนิดธนาคารสมอง และวุฒิอาสาฯ” โซน 4 "20 ปี การขับเคลื่อนของวุฒิอาสาฯ เพื่อพัฒนาแผ่นดิน” โซน 5 "สร้างความคิดสู่รูปธรรมที่ยั่งยืน” โดยมีวุฒิอาสาธนาคารสมองเจ้าของผลงานที่ได้รับคัดเลือกมาจัดนิทรรศการเฝ้าทูลละอองพระบาทจากห้องอำนวยการจัดการประชุมออนไลน์ เพื่อถวายข้อมูลแบบ Real Time
ในโอกาสนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมการมูลนิธิพัฒนาไทและผู้แทนวุฒิอาสาธนาคารสมอง ทูลเกล้าฯ ถวายกำหนดการ และเข็มที่ระลึก ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายบัตรวุฒิอาสาธนาคารสมองกิตติมศักดิ์ และ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการมูลนิธิพัฒนาไท ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือ "20 ปี ธนาคารสมอง พลังอาสาร่วมสร้างสังคมที่เท่าเทียม”
ทั้งนี้ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กราบบังคมทูลถวายรายงานความเป็นมา และความก้าวหน้าการดำเนินงานธนาคารสมองว่า สืบเนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานกระแสพระราชดำรัส ในที่ประชุมมหาสมาคม ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2543 เนื่องในมงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งมีประเด็นรับสั่งเกี่ยวกับ "ธนาคารสมอง” โดยเปิดโอกาสให้ผู้เกษียณอายุแล้วที่ได้สั่งสมความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มาเป็นเวลายาวนาน มาช่วยงานเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมส่วนรวมของประเทศ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2543 มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหน่วยทะเบียนกลางธนาคารสมอง ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล ผู้ทรงคุณวุฒิ และประสานเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้วุฒิอาสาธนาคารสมองได้ร่วมทำงานพัฒนาประเทศต่อไป
วุฒิอาสาธนาคารสมอง มีการทำงานทั้งแบบปัจเจกและรวมกลุ่มทำงาน โดยการช่วยเสริมหรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ตามคำร้องขอของหน่วยงานหรือชุมชน หรือริเริ่มกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี วุฒิอาสาฯ ได้มีการรวมกลุ่มกันทำงานเชิงรุก และขับเคลื่อนงานเชิงยุทธศาสตร์ในหลากหลายมิติ ตามความต้องการของหน่วยงานและชุมชนทั่วทุกภาคของประเทศ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาท้องถิ่นระดับต่าง ๆ และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับภาคีเครือข่ายการพัฒนาทุกภาคส่วนในพื้นที่ มีผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมกว่า 19,000 กิจกรรม/โครงการ
การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีสายพระเนตรอันกว้างไกล ทรงริเริ่มแนวพระราชดำริธนาคารสมอง และเผยแพร่ผลการดำเนินงานของธนาคารสมองในรอบ 20 ปี ให้แก่ภาคีเครือข่ายการพัฒนาทุกภาคส่วน และสาธารณชนได้รับทราบอย่างกว้างขวาง โดยมีผู้ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท ประมาณ 1,000 คน ประกอบด้วย วุฒิอาสาธนาคารสมองทั่วประเทศ ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ชุมชน สาธารณชน และสื่อมวลชน
ในเวลา 16.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินกลับที่ประทับ