ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สื่อมวลชนให้ความสำคัญแนวทางการพัฒนาประเทศร่วมเสนอความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 
วันที่ 20 ธ.ค. 2564 (จำนวนผู้เข้าชม  322)
วันนี้ (20 ธันวาคม 2564) นายดนุชา  พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมระดมความเห็นต่อ "ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)” กลุ่มสื่อมวลชน ณ ประชุมเดช  สนิทวงศ์ สศช. โดยมีสื่อมวลชนอาวุโส ผู้บริหารระดับสูง และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เข้าร่วมประชุม จำนวนประมาณ 40 คน อาทิ นายสุวัฒน์ ทองธนากุล บรรณาธิการ Green Innovation & SD นายบุญเลิศ  คชายุทธเดช กรรมการนโยบายด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่นฯ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย นายเกษมสันต์  วีระกุล ประธานกรรมการ บ.ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) นายวิวรรฒน์  พงศ์บุรณะกิจ กรรมการบริหารบริษัท มะลิภร จำกัด นางสาวจันทรา ชัยนาม กรรมการผู้จัดการและนักจัดรายการวิทยุ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นายระวี  ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ นายนพพร หอเนตรวิจิตร บรรณาธิการข่าว สำนักข่าว News Around Thailand (NAT) นางสาวอมรรัตน์ จรูญสมิทธิ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ นางสาวฉัตรฤดี เทพรัตน์ ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจอาวุโส บางกอกโพสต์ นายนครินทร์   ศรีเลิศ หัวหน้าผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ-นโยบายสาธารณะ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ตามที่ สศช. ได้จัดการประชุมระดมความเห็นต่อกรอบของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ร่วมกับภาคีการพัฒนาในกลุ่มจังหวัดและกลุ่มเฉพาะต่างๆ รวมทั้งกลุ่ม "สื่อมวลชน” ไปเมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 ที่ผ่านมา โดยได้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการระดมความเห็นในรอบแรกดังกล่าว มาจัดทำรายละเอียดเนื้อหาเพิ่มเติม รวมถึงตัวชี้วัดและเป้าหมายในร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้ชัดเจนขึ้น โดยขณะนี้ สศช. อยู่ระหว่างกระบวนการการนำร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ดังกล่าว มาระดมความเห็นร่วมกับภาคีการพัฒนาในกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม และกลุ่มเฉพาะในส่วนกลาง 7 กลุ่ม ได้แก่ ทั้งกลุ่มภาคราชการ ภาคเอกชน ภาควิชาการ อดีตผู้บริหาร สศช. ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน รวมถึงกลุ่มสื่อมวลชน ในการประชุมในวันนี้จึงขอให้สื่อมวลชนเสนอความเห็นต่อร่างแผนฯ 13 เพื่อ สศช. จะได้รวบรวมนำความเห็นดังกล่าวมาปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความสมบูรณ์ และสอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และตอบสนองความต้องการของแต่ละภาคส่วนได้อย่างแท้จริง

จากนั้น นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการ สศช. ได้นำเสนอร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13  ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ว่า ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13  ยังคงน้อมนำ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มากำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมทั้งเป็นหลักนำทางในการขับเคลื่อนแผน ตลอดจนยึดโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโต สังคมก้าวหน้า ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลในระยะยาว โดยมีเป้าหมายหลักของการพัฒนาในระยะ 5 ปีของแผนรวม 5 เป้าหมาย ได้แก่ (1) การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม (2) การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ (3) การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม (4) การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน และ (5) การเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลง ภายใต้บริบทโลกใหม่

นอกจากนี้ เพื่อถ่ายทอดเป้าหมายหลักไปสู่ภาพของการขับเคลื่อนที่ชัดเจนในลักษณะของวาระการพัฒนา (Agenda) ที่เอื้อให้เกิดการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วนในการผลักดันการพัฒนาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงได้กำหนดหมุดหมายการพัฒนาสำคัญรวม 13 หมุดหมาย โดยแบ่งเป็น 4 มิติ ได้แก่
1. มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน หมุดหมายที่ 3 ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 5 ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค หมุดหมายที่ 6 ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน
2. มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอเหมาะสม
3. มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ หมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4. มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และหมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน

รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ภายหลังการระดมความเห็นในครั้งนี้ สภาพัฒน์จะนำความคิดเห็นที่ได้จากการประชุมมาประมวลและปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แล้วนำเสนอต่อสภาพัฒนาฯ หลังจากนั้นจะเสนอร่างดังกล่าวต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แผนฯ อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2565 ต่อไป

สำหรับการประชุมระดมความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 กลุ่มสื่อมวลชน ผู้เข้าร่วมการประชุมเห็นชอบกับร่างแผนฯ 13 ในภาพรวม และได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญในภาพรวม อาทิ การปรับตัวชี้วัดบางหมุดหมายให้มีความท้าทายขึ้นเพื่อให้เห็นภาพการพลิกโฉมประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าได้อย่างชัดเจน การจัดลำดับความสำคัญของแต่ละหมุดหมาย การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา และการสร้างระบบนิเวศน์ให้ทันการพัฒนาในโลกดิจิทัล โดยในส่วนของมิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย การส่งเสริมการนำพืชสมุนไพรมาใช้เป็นจุดแข็งในการผลิตยารักษาโรค เครื่องสำอาง และการส่งเสริมแพทย์แผนไทย ควรเพิ่มเติมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศและสร้างความเข้าใจให้ประชาชนถึงนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ควรส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อเป็นเครื่องมือกลไกแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม  มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรมีกฎ กติกา การส่งเสริม และมาตรการบังคับใช้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ ควรให้ความสำคัญกับการเพิ่ม Productivity ภาครัฐ และเพิ่มเติมมิติภาคการเมืองให้เชื่อมโยงกับกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดการโปร่งใสยิ่งขึ้น

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
20 ธันวาคม 2564

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์