ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์จัดระดมความคิดเห็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) กลุ่มภาคเอกชน
วันที่ 30 มี.ค. 2564 (จำนวนผู้เข้าชม  107)
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดระดมความคิดเห็น "กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)” กลุ่มภาคเอกชน รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อนำความเห็นไปใช้ในการกำหนดแนวทางของแผนพัฒนาฯ

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมระดมความเห็นต่อ "กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570)” กลุ่มภาคเอกชน ณ ห้องประชุม Ballroom 1 และ 2 โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ดร.ปิยะนุช มาลากุล ณ อยุธยา รองประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายคมกริช นาคะลักษณ์ กรรมการยุทธศาสตร์ Investment หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สมาคมธนาคารไทย และผู้แทนภาคเอกชน จำนวนประมาณ 150 คน

นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการฯ กล่าวว่า ขณะนี้ สศช. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2565) ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2565 โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 นั้น เป็นเสมือนก้าวที่สองของการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาวตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) โดยการถ่ายทอดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศลงสู่การปฏิบัติในช่วงเวลา 5 ปี โดยกำหนดแนวทางและหมุดหมายการพัฒนาให้ตอบสนองกับบริบทการพัฒนาที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 ของยุทธศาสตร์ชาติเป็นสำคัญ สำหรับกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ผ่าน ๆ มา สศช. ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางและแนวทางพัฒนาสำคัญของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และในกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ก็เช่นกัน โดยได้มีการจัดกิจกรรมระดมความเห็นในหลายรูปแบบ ทั้งการจัดเวทีระดมความเห็นในระดับกลุ่มจังหวัด และเฉพาะกลุ่ม นอกจากนี้ สศช. ได้จัดให้มีช่องทางออนไลน์และสื่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้โดยสะดวก

รองเลขาธิการฯ  กล่าวด้วยว่า ภายหลังการระดมความเห็นในครั้งนี้ สศช. จะนำความคิดเห็นที่ได้มาประมวลและปรับปรุงกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แล้วนำเสนอต่อสภาพัฒนาฯ หลังจากนั้น จะแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 แต่ละด้าน เพื่อจัดทำร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่สอดคล้องกับกรอบที่จัดทำไว้ และจะมีการระดมความเห็นร่วมกับภาคีการพัฒนาต่อร่างแผนฯ ในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องต้นปี 2565 ต่อไป 

จากนั้น นายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. ได้นำเสนอ "ร่างกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13” ซึ่งกำหนดแนวทางและหมุดหมายการพัฒนาให้ตอบสนองกับบริบทการพัฒนาที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 ของยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อพลิกโฉมประเทศไทย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยประเด็นการพัฒนา 4 ด้าน 13 หมุดหมาย ได้แก่
(1) การเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจฐานทรัพยากร ไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและองค์ความรู้หรือการมุ่งสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 6 หมุดหมาย คือ หมุดหมายที่ 1 การเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 2 การท่องเที่ยวเน้นคุณภาพ และเพิ่มมูลค่า หมุดหมายที่ 3 ฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน หมุดหมายที่ 4 การแพทย์และสุขภาพแบบครบวงจร หมุดหมายที่ 5 ประตูการค้าการลงทุนและโลจิสติกส์ของภูมิภาค และหมุดหมายที่ 6 อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและดิจิทัล
(2) การเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่มีเพียงบางกลุ่มที่เข้าถึงโอกาสไปสู่สังคมที่มีโอกาสสำหรับทุกคนและทุกพื้นที่ หรือการสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค จำนวน 3 หมุดหมาย คือ หมุดหมายที่ 7 มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs หมุดหมายที่ 8 มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ และหมุดหมายที่ 9 มุ่งเพิ่มพลวัตการเลื่อนชั้นทางสังคมและลดความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้และความมั่งคั่ง
(3) การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตและการบริโภคที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไปสู่วิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความปลอดภัยหรือการเสริมสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืน จำนวน 2 หมุดหมาย คือ หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และหมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถปรับตัวและลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ
(4) การเปลี่ยนผ่านจากกำลังคนทักษะต่ำและภาครัฐที่ล้าสมัย ไปสู่กำลังคนและภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง เพื่อเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน จำนวน 2 หมุดหมาย คือ หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และหมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ของ สศช. ได้ทางเว็บไซต์ www.nesdc.go.th, Facebook สภาพัฒน์, Twitter สภาพัฒน์, Line สภาพัฒน์ Update, Email : plan13@nesdc.go.th แบบสอบถามออนไลน์ และตู้ ปณ.49 ปทฝ.หลานหลวง กรุงเทพฯ 10102

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์