ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สศช. จัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ครั้งที่ 3 “คู่มือแนวทางการวางแผนพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน"
วันที่ 8 มี.ค. 2564 (จำนวนผู้เข้าชม  97)
เมื่อวันพุธที่ 3 มีนาคม 2564 นายเอนก มีมงคล รองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ครั้งที่ 3 เพื่อรับฟังความเห็นต่อ "คู่มือแนวทางการวางแผนพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน” (Planning Guideline for Livable and Sustainable Future City : LSFC Guideline) ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ (1) ด้านกระบวนการวางแผน (2) ด้านระบบตัวชี้วัดเกี่ยวกับเมืองหลากหลายมิติ และ (3) ด้านการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเมือง ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ณ ห้องประชุมปรินซ์บอลรูม 2 โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค โดยกองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองให้เกียรติเข้าร่วมการประชุม ประมาณ 70 คน อาทิ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร การเคหะแห่งชาติ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมการผังเมืองไทย สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย โดยมีการนำเสนอโดยผู้เชี่ยวชาญและชี้แจง ดังนี้

ช่วงแรก ดร.รัตมณี อ๋องสกุล ผู้เชี่ยวชาญการวางแผนพัฒนาเมือง ได้นำเสนอ ร่าง คู่มือแนวทางการวางแผนพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ในด้านกระบวนการและด้านตัวชี้วัด  ซึ่งได้ปรับปรุงเนื้อหาให้มีความครอบคลุมจาก Focus Group ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ดังนี้ (1) กระบวนการวางแผนพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ได้แก่ การพิจารณาขอบเขตเชิงนิเวศ การประสานงานผู้เกี่ยวข้อง การประเมินสถานะ การกำหนดวิสัยทัศน์และจัดลำดับความสำคัญ การกำหนดแนวทางภาคีและแผนงาน การประสานกลไกขับเคลื่อน และการติดตามและประเมินผล ตามลำดับ และ (2) ตัวชี้วัดระบบติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 24 ตัวชี้วัด ใน 5 มิติสำคัญ ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐานและคุณภาพชีวิต ด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ด้านการเติบโตและประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ด้านความเท่าเทียมและการยอมรับทุกกลุ่มในสังคม และด้านธรรมาภิบาลการบริหารจัดการเมือง

ช่วงที่สอง นายอำนาจ พลเตชา ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนพัฒนาเมือง ได้นำเสนอกลไกขับเคลื่อนแผนพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนไปสู่การปฏิบัติ โดยกำหนดให้มีกลไกขับเคลื่อนแผนการพัฒนาเมือง 3 ส่วน ประกอบด้วย (1) กลไกสถาบันและองค์กร ได้แก่ กลไกองค์กรในโครงสร้างบริหารราชการแผ่นดิน และกลไกอิสระภาคเอกชน (2) กลไกงบประมาณและแหล่งทุน ได้แก่ งบประมาณบูรณาการ งบประมาณท้องถิ่น งบประมาณภาคเอกชน และกองทุนและแหล่งทุนอื่นๆ (3) เครื่องมือทางกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. 2547 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พ.ศ. 2546 และข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงและแก้ไขให้คู่มือแนวทางการวางแผนพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และสามารถนำไปใช้การวางแผนพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถสนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายการพัฒนาเมืองเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและสนับสนุนการดำเนินงานซึ่งกันและกันตามวัตถุประสงค์ของโครงการพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ต่อไป

ข่าว : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง
ภาพ : อภิชาติ  แดงดี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์