ข่าวสาร/กิจกรรม
|
สศช. Kick off โครงการพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน
วันที่ 4 มิ.ย. 2563
|
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 นายเอนก มีมงคล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธาน การประชุมเริ่มงาน (Kick off Meeting) โครงการพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ระหว่างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมสุนทร หงส์ลดารมภ์ อาคาร 1 ชั้น 3 สศช.
ในระยะเวลาที่ผ่านมา สศช. ได้ร่วมมือทางวิชาการกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ในการดำเนิน โครงการเสริมสร้างความยั่งยืนของการพัฒนาเมืองในอนาคต (Sustainable Future City: SFC) เพื่อผลักดันแนวคิดและสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาเมืองในอนาคตอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักการขับเคลื่อนการพัฒนาโดยท้องถิ่นตามแนวทางของรัฐบาล โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่โครงการ มีประชาชนเป็นศูนย์กลางในการร่วมตัดสินใจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินการ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 ในเมืองนำร่องระยะที่ 1 จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครพิษณุโลก เทศบาลเมืองกระบี่ เทศบาลเมืองน่าน และเทศบาลเมืองพนัสนิคม และต่อมาในปี 2562 ได้ขยายความร่วมมือระยะที่ 2 จำนวน 2 แห่ง ในพื้นที่ SEC ได้แก่ เทศบาลเมืองชุมพร และเทศบาลเมืองระนอง
ปัจจุบัน สศช. ดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำโครงการพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งได้มอบหมายให้ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการศึกษา ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน ในพื้นที่เป้าหมายจำนวน 2 แห่ง โดยการประชุมวันนี้เป็นการหารือแผนการดำเนินงานโครงการฯ ในภาพรวม และข้อเสนอแนวทางการคัดเลือกเมืองเป้าหมาย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) สร้างต้นแบบกลไกและกระบวนการวางแผนพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน (2) พัฒนาระบบติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน และ (3) ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนของ 6 เมืองที่ดำเนินการแล้วเสร็จ
โดยผลการศึกษาโครงการฯ สามารถนำมาปรับปรุงแนวทางการพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่างแท้จริง และแนวคิดเรื่องเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนมีความสำคัญต่อการออกแบบระบบติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย ประเด็นพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ในด้านประเด็นการพัฒนาเมืองในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ต่อไป
ข่าว : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง (กพม.)
ภาพ : อภิชาติ แดงดี |