ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์รักษ์โลก ร่วมมอบขวดพลาสติก ผลิต “จีวรรีไซเคิล” 
วันที่ 1 มิ.ย. 2563 (จำนวนผู้เข้าชม  155)
     เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 นางเสาวณีย์  แสงสุพรรณ รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ นำขวดพลาสติกที่เจ้าหน้าที่ สศช. ร่วมกันบริจาคไปมอบให้วัดจากแดง ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เพื่อผลิตจีวรรีไซเคิล โดยมีพระมหาประนอม ธมฺมาลังฺกาโร รองเจ้าอาวาส เป็นผู้รับมอบ

     พระมหาประนอม ธมฺมาลังฺกาโร ได้กล่าวชมเจ้าหน้าที่สภาพัฒน์ เรื่องการคัดแยกขยะรีไซเคิลว่า มีการคัดแยกขวดพลาสติกรีไซเคิลได้ดีมาก คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ใช้ได้ถึง 99% โดยท่านได้สอนวิธีสังเกตขวดพลาสติกเพื่อแยกขวดคือ ให้สังเกตสีที่คอขวดหรือก้นขวดพลาสติกว่ามีสีขาวหรือสีฟ้า เวลานำไปแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกจะได้สีนั้นๆ

     ในโอกาสนี้ ท่านได้พาเยี่ยมชมแหล่งศึกษาและเรียนรู้การจัดการขยะ รวมถึงการพัฒนาช่องทางการผลิตสินค้าที่เพิ่มมูลค่าจากการรีไซเคิล โดยเริ่มตั้งแต่การนำขยะพลาสติกที่เก็บได้จำนวนมากจากภายในวัดและชุมชน และจากผู้มีจิตศรัทธาทั้งภาครัฐและเอกชนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจัดส่งมา สู่การบริหารจัดการแยกขยะแต่ละชนิด เพื่อให้ง่ายต่อการหมุนเวียนกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย (1) ขยะอินทรีย์ที่วัดจะนำกลับมาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ (2) ขยะอินทรีย์ที่องค์การบริหารส่วนตำบลจะรวบรวมและส่งต่อเพื่อกำจัด และ (3) ขยะอินทรีย์ที่บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้ร่วมกับพันธมิตร ในการจัดการอบรมให้ความรู้กับชาวบ้านและวัดจากแดง เพื่อแยกประเภทของพลาสติกได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนการประสานงานกับผู้รับซื้อขยะพลาสติก ให้นำกลับเข้าไปสู่กระบวนการรีไซเคิล เพิ่มมูลค่าให้กับพลาสติก และช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนบางกะเจ้า 

     ทั้งนี้ ทางวัดยังได้มีการต่อยอดการรีไซเคิลขยะชนิดอื่นๆ เช่น การรีไซเคิลกล่องนมมาหลอมเป็นผนังกั้นห้อง ฝ้าเพดาน และขวดแก้วนำมาบดละเอียดแล้วนำไปหล่อเป็นพระพุทธรูป 

     สำหรับพลาสติก PET ชนิดใส จะนำมาผ่านกระบวนการ Upcycling และแปรรูปเป็นเส้นใยรีไซเคิล จากนั้นจึงถักทอผสมผสานกับเส้นใย Polyester Rayon เส้นใยฝ้าย และเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ซิงค์ แอนตี้แบคทีเรีย (Polyester Zinc Antibacterial) ที่สามารถป้องกันแบคทีเรีย ลดกลิ่นอับ มีความนุ่ม โปร่งสบายเหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทย โดยขยะขวด PET จำนวน 15 ขวด สามารถผลิตผ้าจีวรได้ 1 ผืน และถ้าเป็นผลิตเป็นผ้าไตรจีวร 1 ชุด ใช้ขวด PET ทั้งสิ้น 60 ขวด (ข้อมูลดังกล่าวสำหรับขวดขนาด 1.5 ลิตร แต่รับบริจาคทุกขนาด) โดยการตัดเย็บผ้าไตรทั้งหมดเป็นฝีมือจากชาวบ้านแห่งคุ้งบางกระเจ้า นับเป็นจีวรรีไซเคิลที่ใช้นวัตกรรมแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก ที่ได้จากกระบวนการผลิตของ GC ไปผลิตเป็นเส้นใย เพื่อทอเป็นผืนผ้าบังสุกุลอย่างดี โดยการย้อมสีราชนิยม เป็นไปตามพระวินัย ตามกิจของพระสงฆ์ มีทั้งผ้า 5 ขันฑ์ (ชิ้น) 9 ขันฑ์ (ชิ้น) และสังฆาฎิ 2 ชั้น ซึ่งการผลิตผ้าจีวรรีไซเคิล เป็นไปตามหลักพุทธบัญญัติด้วยฝีมือคนไทย 

     สำนักงานจะจัดทำกิจกรรมการร่วมรับบริจาคขวดพลาสติกนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณขยะพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ สศช. ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมนี้ 

     อย่างไรก็ตาม การลดปริมาณขยะพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม ควรเริ่มจากการลดขยะที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน โดยใช้แนวคิด 3R (Reduce Reuse and Recycle: 3Rs) เพื่อการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ด้วยการลดการใช้ (Reduce) วัสดุ ผลิตภัณฑ์ ที่ก่อให้เกิดขยะเพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น กลับใช้ซ้ำ (Reuse) โดยนำวัสดุ ผลิตภัณฑ์ที่ยังสามารถใช้งานได้ และการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือรีไซเคิล (Recycle) โดยการนำวัสดุ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานแล้วมาแปรรูป หากสามารถทำได้ครบทั้ง 3Rs จะสามารถลดปริมาณขยะ ลดการสร้างมลพิษ ลดปริมาณการใช้ทรัพยากร และช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้
 
ข่าว : วันทนีย์  สุขรัตนี / เมฐติญา  วงษ์ภักดี
ภาพ : เมฐติญา  วงษ์ภักดี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์